fbpx
21พ.ค.

ในหนังสือ No Rules Rules ที่เขียนโดย Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้ง NETFLIX เคยพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานของ NETFLIX เอาไว้ว่า จุดที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้ได้ คือการมีกฎให้น้อยที่สุด 

NETFLIX เป็นบริษัทที่เน้นให้พนักงานแต่ละคนมีอิสรภาพและเสรีภาพในการทำงาน ส่วนข้อกำหนดกฎระเบียบที่มีขึ้นเพื่อควบคุม จะมีให้น้อยที่สุด 

เพราะเชื่อมั่นว่าพนักงานที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เด็กๆ ที่ต้องคอยออกกฎมาควบคุม

ยกตัวอย่างนโยบายการใช้เงินของ NETFLIX
ในบริษัทจะมีนโยบายกว้างๆ บอกเอาไว้เลยว่า พนักงานจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด (Act in Netflix’s best interests) 

ปรากฏว่า เวลาที่มีการประชุมต่างเมือง ทางบริษัทจะให้พนักงานกดจองตั๋วเครื่องบินเอง แล้วค่อยเอามาเบิกกับบริษัท สุดท้ายทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพราะไม่ต้องเอาเงินไปจ้างเอเย่นต์อีกต่อหนึ่ง

แต่การจะทำแบบนี้ได้ พนักงานของ NETFLIX จะต้องมีจุดร่วมกันคือ ‘วัฒนธรรมที่เชื่อใจกันขั้นสูง’ (high trust culture)

วัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้ NETFLIX สามารถบริหารจัดการคนและองค์กรได้ดี และรวมไปถึงการคัดคนใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทที่ตรงสเป็คได้ด้วย

วิธีรักษาสภาพแวดล้อม ให้คนเก่งอยากทำงานกับ NETFLIX

คนเราถ้าทำงานด้วยความเชื่อใจ จะทำอะไรก็ง่าย ไม่ต้องมีกฎเยอะแยะให้วุ่นวาย

Patty McCord ที่ปรึกษาคนสำคัญผู้ปลุกปั้นวัฒนธรรมการทำงานของ NETFLIX บอกว่า สิ่งสำคัญของการบริหารคน เริ่มต้นมาตั้งแต่การคัดเลือก 

เพราะการจะจ้างใครสักคนเข้ามาในบริษัท ต้องมั่นใจได้ว่า เขาจะเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง และการได้คนแบบนี้มา องค์กรก็ไม่ต้องสร้างกฎมาควบคุมเยอะ และในท้ายที่สุดวัฒนธรรมที่ดีจะเกิดขึ้นตามมา

“ถ้าเราจ้างพนักงานที่คิดถึงผลประโยชน์ของบริษัทมาได้จริงๆ พนักงานส่วนใหญ่ร้อยละ 97% จะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เพราะฉะนั้นแล้ว HR ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาเขียนกฎระเบียบอะไรมากมาย เพื่อใช้บังคับกับคนส่วนน้อยแค่ 3% ที่เหลือ”

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต “เราจึงทุ่มเทที่จะไม่จ้างกลุ่มคน 3% นี้ตั้งแต่แรก” 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ามาพบทีหลังว่า NETFLIX ไปจ้างคนกลุ่ม 3% นี้เข้ามาในบริษัทจริงๆ สิ่งที่ทำก็คือ ทางบริษัทจะจ้างพวกเขาเหล่านี้ออก และจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมให้

แต่นอกจากประเด็นนี้ NETFLIX ก็ยังใช้วิธีจ้างคนออกจากบริษัทในแบบอื่นด้วย โดยบอกไว้ว่า ถ้าพนักงานคนไหนมีผลงานไม่เข้าตาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งถ้าได้รับการตักเตือนแล้ว แต่ไม่ได้ปรับปรุงตัว ก็ให้เตรียมโบกมือลาบริษัทได้เลย

รู้หรือไม่ว่า วิธีคัดคนออกจากบริษัทในสไตล์ NETFLIX ที่ McCord มีส่วนสร้างขึ้น สุดท้ายมันก็กลับมาทำร้ายตัวเธอเอง เพราะเธอเคยถูกจ้างออกจากบริษัทในปี 2012 

นี่ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานแบบ NETFLIX ที่ผู้ก่อตั้งเน้นย้ำเสมอว่าต้องการเป็น “ทีมกีฬามืออาชีพ” 

นั่นหมายความว่า ในช่วงแรกที่ทีมยังไม่แข็งแกร่ง ทีมต้องการตัวเธอ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เธอร่วมสร้าง ทำให้ทีมมีความมั่นคง และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว 

ทีมหรือองค์กรจึงไม่ต้องการ ‘ผู้เล่น’ อย่างเธออีกต่อไป

นี่คือวิธีที่ NETFLIX ใช้บริหารคน เพื่อขับเคลื่อนองค์กร

การจ้างคนออก เพื่อรักษาคนเก่ง ถือเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายสำคัญของการบริหารคน ที่ทำให้ NETFLIX ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้

ตอนนี้ NETFLIX เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 69 ของโลก

แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็บอกว่า วิธีการบริหารคนแบบ NETFLIX ที่ว่ามานี้ มันดูโหดร้าย และอาจใช้ไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะกับทุกสังคม ไม่เหมาะกับทุกบริษัท..

วิธีคัดคนออกแบบ NETFLIX โหดจริงหรือเปล่า?

ข้อมูลจากคนวงในที่ทำงานใน NETFLIX อย่าง ‘ปัณฑารีย์ สุคัมภีรานนท์’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ในประเด็นการคัดคนออกของ NETFLIX ว่าทำไมดูโหดร้าย แล้วการเอาคนออกจากบริษัทเยอะขนาดนี้ ถึงที่สุด จะทำให้บริษัทไม่มั่นคงหรือเปล่า?

ปัณฑารีย์ บอกว่า คำถามลักษณะนี้เคยมีพนักงานของ NETFLIX เอาไปถามผู้บริหาร และคำตอบที่ได้คือ 

“เอาจริงๆ แล้ว เวลาที่เราเอา ‘ตัวเลข’ มาดู จะพบว่า อัตราพนักงานที่ออกจากบริษัท NETFLIX ในออฟฟิศที่สิงคโปร์ ไม่ได้ต่างจากบริษัทอื่นๆ เลย” 

ปัณฑารีย์ บอกอีกด้วยว่า “ถ้าใช้ตัวเลขมาวัดกันจริงๆ นี่ก็ถือเป็นมุมมองใหม่ ที่ทำให้รู้สึกว่า นโยบายที่ดูสุดโต่งของ NETFLIX แท้ที่จริงแล้ว กลับพบว่า มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะตัวเลขการออกจากบริษัท (Turnover Rate) แทบไม่ต่างจากบริษัทอื่นเลย”

ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ ด้วยสไตล์การจ้างงานแบบ NETFLIX ที่เน้นคัดคนไม่เก่งออก และทุ่มเทดูแลคนเก่งๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจในการทำงานแบบขั้นสุด ทั้งหมดนี้มันนำไปสู่นโยบายล้ำๆ อย่างการลาพักร้อนได้ไม่จำกัดของบริษัท ตามไปอ่านได้ที่ กรณีศึกษา นโยบายให้ ‘วันลาไม่จำกัด’ ของพนักงาน NETFLIX https://workpointtoday.com/unlimited-vacation-policy/ 

อ้างอิงข้อมูล 

– วัฒนธรรมการจ้างคนของ NETFLIX https://www.forbes.com/sites/kevinkruse/2016/09/05/netflix-has-no-rules-because-they-hire-great-people

– https://workpointtoday.com/powerful-netflix-patty-mccord/  

– มูลค่าบริษัท https://companiesmarketcap.com/netflix/marketcap/  อ้างอิง ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565

– ข้อมูลบางส่วนจาก workpointTODAY ที่สัมภาษณ์คนไทยที่ทำงานในบริษัท NETFLIX สำนักงานสิงคโปร์ https://youtu.be/RZdYa_9efZk 

ขอบคุณ บทความจาก : ธงชัย ชลศิริพงษ์  (https://workpointtoday.com/writer/thongchai-cholsiripong/)