องค์กรเสียโอกาส เสียเวลา เสียต้นทุน เพราะกระบวนการคัดเลือกด้อยประสิทธิภาพ
การสรรหาและคัดเลือกคนเข้าทำงานไม่ใช่เพียงการเติมคนให้เต็มแล้วก็จบหน้าที่ของ HR นะ แต่หน้าที่หลักของ HR ที่ต้องโฟกัสและทำให้ดีที่สุด นั่นก็คือ การคัดเลือกคนที่ใช่ หรือที่เรียกว่า right fit เข้ามาในองค์กรให้ได้นั่นเอง ซึ่งต่างประเทศเขาก็มีผลสำรวจถึงเรื่องนี้ออกมา โดยบริษัทกว่า 95% ยอมรับว่า วิธีการคัดเลือกคนเข้าทำงานของตนเอง ยังด้อยประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรต้องสูญเสียต้นทุนการสรรหาจำนวนมาก คำถามคือ แล้วเราจะต้องทำยังไง? องค์กรถึงจะมีกระบวนการคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความสูญเสียของต้นทุนการสรรหาลงได้
เราต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาระบบการคัดเลือกที่ขาดประสิทธิภาพ HR คือเจ้าภาพในกระบวนการนี้ทั้งหมด ซึ่งมันอาจจะเริ่มตั้งแต่ การออกแบบใบสมัครที่บกพร่อง, การประกาศรับสมัครงานที่ไม่ชัดเจน ระบุข้อมูลไม่ครบถ้วน, ไม่มีเกณฑ์การคัดเลือกที่ชัดเจน หรือพนักงานสัมภาษณ์ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการคัดเลือกพนักงาน เป็นต้น
ออร์คิดจ๊อบอยากให้ทุกคนลองดูข้อมูลนี้ เคยมีการกล่าวเอาไว้ว่า
องค์กรที่ไม่มีมาตรฐานการสัมภาษณ์ที่เป็นระบบจะมีโอกาสเกิดความด้อยประสิทธิภาพของการคัดเลือกคนมากถึง 5 เท่า
รวมไปถึง องค์กรที่ลงทุนในการทำ employer branding จะทำให้การจ้างงานมีคุณภาพมากขึ้นถึง 3 เท่า
ได้ยินแบบนี้ หลายคนน่าจะพอเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ย ว่าองค์กรควรจะกลับไปโฟกัสกันที่เรื่องอะไร เพื่อให้ระบบการสรรหาและการคัดเลือกคนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้ ว่าองค์กรจะมีวิธีการคัดเลือกคนที่เรียกว่า right fit เข้าสู่องค์กรได้อย่างไร ออร์คิดจ๊อบขอเน้นไปทีละประเด็นแบบนี้
👉1. Interview process กระบวนการสัมภาษณ์เป็นส่วนที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะองค์กรที่กระบวนการ สัมภาษณ์ไม่มีระบบ ไม่มีมาตรฐาน จะมีโอกาสเลือกคนที่ผิดพลาดมากถึง 5 เท่า แล้วถามว่า interview process ที่ดีเป็น ยังไง
✔ประเด็นแรกคือ ผู้เข้าสัมภาษณ์ทุกคนจะต้องรับรู้ร่วมกันว่าเป้าหมายของการสัมภาษณ์ครั้งนี้คืออะไร หมายความว่า เรา ต้องการอะไรจากการสัมภาษณ์นั่นเอง
✔ประเด็นที่สอง ผู้สัมภาษณ์จะต้องมีแนวคำถามที่ใช้ถามผู้สมัครด้วยคำถามเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงในการสัมภาษณ์ และเพื่อเปรียบเทียบคำตอบและประเมินว่าใครเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด รวมถึงยังทำให้กระบวนการสัมภาษณ์ดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายด้วย
✔ประเด็นที่สามคือ ต้องมีการกำหนดแนวทางการตัดสินใจคัดเลือกให้กับผู้สัมภาษณ์แต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการถาม การทำข้อสอบ การอธิบายวัฒนธรรมองค์กรแก่ผู้สมัครทราบ รวมถึงอธิบายข้อกำหนดต่าง ๆ ของงานในตำแหน่งที่สัมภาษณ์ด้วย
ทั้งสามประเด็นนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ ไม่เกิดการตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า หรือตัดสินใจแบบไม่มีหลักการ ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดในระบบการคัดเลือกคนได้
👉2. การทำ employer branding
พูดง่ายๆ ก็คือการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทในเชิงบวก เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาทำงาน
เรื่องแรกก็คือ เรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรและการส่งมอบคุณค่าขององค์กรให้กับพนักงานและคนภายนอกได้ รับรู้ ซึ่งหมายถึง ค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร และคุณค่าที่พนักงานจะได้รับเมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานในองค์กร ข้อนี้เรา จะต้องวางแผนเรื่องการสื่อสารให้ดี ไม่ว่าจะเป็น การใช้ภาษาในการประกาศรับสมัครงาน การโฆษณา ไปจนถึงข้อความ ที่ HR ถ่ายทอดผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพลักษณ์ขององค์กรไปในทิศทางเดียวกัน
และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การสร้างชื่อเสียงองค์กร มันคือการสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้สมัครงาน พนักงาน ลูกค้า พันธมิตรหรือคนอื่น ๆ ในมิติของการเป็นนายจ้างที่ดี ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการที่เราจะดึงดูดผู้สมัครที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กรได้
👉3. ต้องมี Onboarding process ที่มีประสิทธิภาพ
บริษัทที่มี Onboarding process ที่อ่อนแอจะทำให้พนักงานใหม่สูญเสียความมั่นใจและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียบุคคลากรเหล่านี้ในปีแรก Onboarding ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้พนักงานใหม่อยู่กับองค์กรได้อย่างมีคุณภาพ สร้างผลงานได้รวดเร็ว ใช้ชีวิตในองค์กรได้อย่างมีความสุข
3 ประเด็นที่ออร์คิดได้เขียนมาทั้งหมด คือแก่นสำคัญของระบบการคัดเลือกคนอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรารู้วิธีและทำอย่างถูกต้อง การคัดเลือกคนแบบ Right fit เข้ามาสู่องค์กร ก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป