fbpx
16ก.พ.

5 เทคนิคการพูดแนะนำตัว สำหรับเด็กจบใหม่ พูดยังไงให้ปัง พูดยังไงให้ได้งาน

หลายคนเวลาที่จะไปสัมภาษณ์งาน ก็จะต้องมีการเตรียมตัว และส่วนใหญ่ก็จะเตรียมคำตอบเกี่ยวกับเรื่องงานที่เราจะไปสัมภาษณ์ ประสบการณ์ของเราเคยทำอะไรมาบ้าง ทำไมถึงลาออกจากที่เก่า จุดเด่น-จุดด้อยของเราคืออะไร แต่เราจะบอกแบบนี้ว่า ด่านหินในการสัมภาษณ์งาน ที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจในตัวเราแบบ First Impression เลยนะ คือการแนะนำตัว

หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ แค่การพูดแนะนำตัว มันยากตรงไหน? เพราะเราก็แค่พูดข้อมูลของตัวเองไม่ใช่เหรอ แต่จริงๆ แล้วการพูดแนะนำตัวเองเป็นด่านแรกที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์สนใจในตัวเรา มันจึงต้องมีการวางแผนหรือวางกลยุทธ์กันซักนิดนึง เพื่อดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้ได้ โดยเฉพาะถ้าเราเป็นเด็กจบใหม่ หรือว่ายังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมากนัก เราจะต้องพูดยังไงให้เขารู้สึกว่าเราน่าสนใจ หรือขายตัวเองยังไงให้เขาอยากซื้อ และอยากจะเพิ่มบทสนทนา อยากจะคุยต่อ ถามต่อ อยากจะรู้เรื่องของเราต่อไปอีก เพราะนี่คือสัญญาณที่ดีว่า เขาเริ่มสนใจในตัวเรา และอยากรู้จักเรามากขึ้นไปอีก เทคนิคที่เรานำมาบอกในวันนี้ ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที และเราเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งานของคุณมากขึ้นแน่นอน

1. สร้างบรรยากาศที่ดีในการสัมภาษณ์งาน และต้องทำให้ผู้สัมภาษณ์จำชื่อของเราให้ได้  

การแนะนำตัวเราอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที เพื่อที่จะบอกว่าเราคือใคร แต่ในการแนะนำตัวนั้นเราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้ดู Relax ผ่อนคลาย และเป็นกันเอง เป็นกันเองในที่นี้ไม่ใช่การพูดจาที่ดูเหมือนเพื่อน หรือว่าตีตัวสนิทมากจนเกินไป แต่เราอาจจะเลือกใช้ให้คำที่ไม่เป็นทางการมากนัก เช่น สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ……………………… หรือเรียกสั้นๆ ว่า…(ชื่อเล่น)… ก็ได้ค่ะ การพูดด้วยน้ำเสียงที่ดู Friendly ยิ้มแย้มแจ่มใส ก็จะช่วยให้บรรยากาศดู Relax มากขึ้น

เทคนิคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรู้เขารู้เรา ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าคนที่จะสัมภาษณ์เราเป็นใคร เช่น บางคนอาจจะได้ไปสัมภาษณ์กับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือได้สัมภาษณ์กับคนที่มีตำแหน่งสูงหน่อย เราก็อาจจะลองทำการบ้านไปก่อน หาข้อมูลของคนที่จะสัมภาษณ์เราเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะหา common interest หรือความสนใจเหมือนๆ กัน เช่น เราหาข้อมูลมาแล้วว่าผู้สัมภาษณ์ของเราคนนี้มีงานอดิเรกชอบทำอาหาร และถ้าเราก็ชอบทำอาหารเหมือนกัน ก็สามารถใส่เรื่องงานอดิเรกที่ชอบทำอาหารเนี่ย เอาไว้ในบทแนะนำตัวด้วยก็ได้ เพื่อที่เขาฟังแล้ว เขาอาจจะ อ้าว! ชอบเหมือนกันเลย กลายเป็นต่อยอดบทสนทนาไปได้อีก ยิ่งเรามีความสนใจเหมือนๆ กัน เขาก็ยิ่งจดจำเราได้ดียิ่งขึ้น

2. แนะนำตัวแบบ “ดึงไฮไลท์”

เราไม่จำเป็นต้องเล่าประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ต้องเข้าใจก่อนว่าการอธิบายย้อนไปตั้งแต่สมัยอนุบาล นั้นไม่ได้น่าสนใจทุกช่วงทุกตอน และถ้าหากยาวเกินไปก็อาจจะสร้างความเบื่อหน่ายให้กับคนสัมภาษณ์ด้วย ดังนั้นเราจะต้องแนะนำตัวโดยการดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้ได้  แต่เราต้องรู้ก่อนว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไร และถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเลย แต่เราก็ยังเหมาะกับงานนี้นะ เพราะอะไร ต้องตอบให้ได้ เช่น

เรากำลังจะไปสัมภาษณ์งานตำแหน่ง นักออกแบบเว็บไซต์ หรือ UX / UI Designer เราก็บอกไปเลยว่าเราจบจากคณะดิจิทัลมีเดีย สาขาวิชาการออกแบบกราฟฟิก เคยผ่านการฝึกงานจากบริษัทเอเจนซี่ ด้านการออกแบบ Media มาก่อน และยังทำทีสิส เกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์ด้วย อันนี้ก็ดูน่าสนใจขึ้นมาแล้ว และถ้ามีคนบอกว่า หนูไม่ได้จบสายงานนี้โดยตรงเลยค่ะแต่อยากทำงานนี้มาก เราก็ต้องมาดูว่า ตัวเองเคยเข้าอบรมที่ไหนมามั้ย มี Certificate ที่ไหนมาบ้างหรือเปล่า หรือเคยทำโปรเจ็คอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานนี้มั้ย หรือ ในกรณีที่ไม่เคยอบรมที่ไหนมาก่อน ให้เราหาจุดเด่นในวิชาเรียนที่เราทำได้ดีที่สุดมานำเสนอ ว่าเราสามารถทำงานได้ทันทีที่ได้รับมอบหมาย หากได้ทำงานนี้ไม่ต้องเสียเวลาหาความรู้เลย คือพูดง่ายๆ ว่า อะไรที่เป็นจุดเด่นของเราที่เกี่ยวข้องกับงาน ต้องงัดออกมาพูดให้หมด เป็นการดึงไฮไลท์ของตัวเองออกมา เพื่อให้เราดูน่าสนใจ แต่ถ้า worst-case สุดๆ ในกรณีที่เราไม่มีจุดเด่นอะไรเลยจริงๆ ให้แสดงความจริงใจออกมาว่า เราอยากจะทำงานนี้จริงๆ นะ และเราพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราตั้งใจอยากจะเติบโตในสายงานนี้จริงๆ ซึ่งข้อดีของเราก้คือ สามารถเรียนรู้ได้ไว และมีความอดทน เพราะฉะนั้นหากเราได้งานนี้ เราจะพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด ก็คือแสดงความจริงใจของเราออกมาให้เขาเห็น

3. หยุด Mention ที่จุดอ่อนของตัวเอง

เห็นมีหลายคนที่พูดถึงเรื่องเกรดเฉลี่ย เช่น หนูจบจบนิเทศศาสตร์ เกรดเฉลี่ย 2.2 คือจริงๆ เกรดเฉลี่ย 2.2 ก็คือปานกลาง แต่มันไม่ใช่ไฮไลท์ที่เราควรจะต้องพูด เพราะอย่าลืมว่าคนสัมภาษณ์เขาจะจับจ้องสิ่งที่เรากำลัง Present ออกมา พอเขาสะดุดตรงจุดไหน เขาจะจำ และมันจะกลายเป็นผลเสียกับตัวเราเอง เพราะฉะนั้นใน Part ของการแนะนำตัว เราไม่ต้องพูดจุดอ่อนของตัวเองเลยจะดีที่สุด รอให้เขาถาม แล้วเราค่อยบอก

4. ต้องชัดเจนว่าทำไมเราถึงอยากมาทำงานที่นี่

หัวข้อนี้เราไม่จำเป็นต้องรอให้เขาถามนะสามารถบอกก่อนเลยในการแนะนำตัว เพื่อแสดงความชัดเจน ว่าเราต้องการทำงานที่นี่จริงๆ ถ้าเป็นน้องๆ ที่จบใหม่ การพูดถึงหัวข้อนี้ จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เราอยากทำงานนี้จริงๆ เช่น ถ้าเรามาสมัครเป็นฝ่าย Marketing เราอาจจะบอกว่า เราเห็นแคมเปญการตลาดของที่นี่มาตั้งแต่สมัยเรียนเลยค่ะ แล้วรู้สึกชอบมากๆ ก็เลยอยากเข้ามาทำงานและเรียนรู้งานในองค์กรใหญ่ที่มีนักการตลาดเก่งๆ การตอบแบบนี้เนี่ย จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ รู้สึกว่าเรามีเป้าหมาย มีความชัดเจน มีการทำการบ้านมา เพราะฉะนั้น เขาจะยิ่งสนใจและประทับใจในตัวเรามากขึ้น

5. ให้บอกความสำเร็จ จากประสบการณ์การทำงานของตัวเอง

ในกรณีคนที่เคยผ่านงานมาบ้างแล้ว เราอาจจะบอก achievement ได้เป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น ถ้าเราสมัครเป็นเซลล์ เราก็อาจจะพูดถึงยอดขายที่เราเคยทำได้มาแล้ว 10 ล้านต่อปี 20 ล้านต่อปี หรือเคยได้ Top Sale 5 สมัยติดกันมาแล้ว อันนี้ก็เป็นความสำเร็จที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นน้องๆ ที่จบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ ก็อาจจะพูดถึงผลงานหรือกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมแล้วได้รับรางวัล ได้รับการชื่นชม ได้รับความนิยมต่างๆ ก็สามารถนำมาพูดได้เหมือนกัน เพื่อเพิ่มเครดิตให้ตัวเอง

จะเห็นแล้วว่าการพูดแนะนำตัวเอง มีเทคนิคและกลยุทธ์ยังไงบ้าง เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกประทับใจ และสนใจในตัวเรามากขึ้น โดยเทคนิคเหล่านี้ คนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งานทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้เลย แต่น้องๆ ที่เพิ่งจบใหม่เองก็อย่าเพิ่งท้อ เพราะถ้าหากเรานำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้ วางแผน ซ้อมพูดดีๆ รับรองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้นแน่นอน