fbpx
13ส.ค.

9 หน้าที่ผู้จัดการในการก้าวสู่ผู้จัดการที่ดี ต้องมีอะไรบ้าง?

การที่จะได้รับการโปรโมทให้เป็นตำแหน่ง ผู้จัดการ นั้นต้องมาจากความรู้ ความสามารถ ความชำนาญในงานที่ทำมาช่วงระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้จัดการนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มลักษณะใหญ่ๆ

📢 1. ผู้จัดการที่เป็นผู้ที่มีความชำนาญในงานด้านเทคนิคโดยเฉพาะ

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของผู้จัดการในส่วนของวิศวกรรม ผู้จัดการในส่วนของห้องวิจัย หรือผู้จัดการในส่วนของทางด้านวิชาชีพโดยตรง ซึ่งผู้จัดการเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะได้มาจากการทำงานในสายอาชีพเดิมอย่างต่อเนื่องและเป็นสายอาชีพที่ใช้ความรู้เฉพาะตัวเท่านั้น จนมีความชำนาญมากพอที่จะได้รับการโปรโมทให้เป็น ผู้จัดการ ทางด้านเทคนิคซึ่ งส่วนใหญ่ก็จะเป็น ผู้จัดการ ทางด้านช่างผู้จัดการ ทางด้านงานบัญชี ผู้จัดการ ด้านการเงิน

📢 2. ผู้จัดการที่มีความชำนาญและมีความรอบรู้หลากหลาย

ซึ่งไม่ได้เป็นทางเทคนิคล้วนๆ แต่เป็นลักษณะของการจัดการประสานงานทั่วไป หรือบริหารจัดการงานทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นทางเทคนิคโดยเฉพาะ ซึ่ง ผู้จัดการ ส่วนนี้ ก็อาจจะเป็น ผู้จัดการทางด้านฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่าย HR ผู้จัดการทั่วไป หรือ ผู้จัดการทางด้านธุรการ ซึ่งจะเป็นลักษณะเป็นงานที่มีความหลากหลายไม่เฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นลักษณะของ ผู้จัดการ ที่ไม่ได้มีความรู้ลึกในด้านนั้นอย่างลึกซึ้ง ด้านเทคนิคมากนัก แต่มีความสามารถในการประสานงาน สนับสนุนให้ผู้จัดการทางด้านเทคนิคโดยตรง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกราบรื่นจากความสามารถในการประสานงาน ช่วยเหลือสนับสนุน ในส่วนที่ผู้จัดการทางด้านเทคนิคต่างๆ อาจจะไม่มีความถนัด หรือไม่ชำนาญ

👤หน้าที่ของผู้จัดการ ที่ควรจะต้องทำก็คือ

1. ฝึกฝนลูกน้อง

ทำการฝึกฝนลูกน้องให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง ผู้จัดการ ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกน้องได้รับการพัฒนาในการทำงานในหน้าที่โดยตรงของตนเองซึ่งเคยเป็นประสบการณ์โดยตรงของ ผู้จัดการ มาก่อน ผู้จัดการ หลายคนที่เก่งในการทำงาน แต่กลับมีจุดอ่อนในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ หรือการสอนงานให้กับลูกน้อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการอย่างหนึ่งเช่นกัน

2. วางแผนงาน

ทำหน้าที่วางแผนงานให้กับลูกน้องให้ทำงานได้ทันเวลา ตรงตามเป้าหมายและถูกต้องแม่นยำ เนื่องจาก ผู้จัดการ จะเป็นผู้ที่มีความสามารถมองภาพรวมของงานได้อย่างชัดเจน และสามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือปัญหาที่จะตามมาได้ จากการทำงาน หรือลักษณะการทำงานปัจจุบันของลูกน้อง ดังนั้น หน้าที่ของ ผู้จัดการ คือต้องป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมีการวางแผนที่ดีชัดเจนให้กับลูกน้องได้ดำเนินงานตาม

3. ดูแลทุกข์สุข

ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของลูกน้องในที่ทำงาน เนื่องจาก หากลูกน้องมีความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์จากเรื่องส่วนตัว หรือทุกข์จากการทำงานแล้ว จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานแย่ลง และมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดจากการทำงานสูง ทำให้องค์กรเกิดปัญหาทั้งเพื่อนร่วมงานในแผนก และต่างแผนกรวมไปจนถึงทำให้องค์กรสูญเสียโอกาสในการพัฒนา หรือเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ผู้จัดการ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลลูกน้องเหมือนกับลูกน้องเป็นลูกค้าคนหนึ่งของผู้จัดการ ต้องคอยสังเกตว่าลูกน้องมีพฤติกรรมปกติ หรือผิดปกติไป แล้วเข้าไปดำเนินการพูดคุยช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานโดยตรง เป็นหน้าที่ของ ผู้จัดการที่จะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ทันเวลาและจบปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ลูกน้องกลับมามีขวัญกำลังใจ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

4. รวบรวมผลงาน

ทำหน้าที่รวบรวมผลการทำงานของลูกน้อง เพื่อนำเสนอในที่ประชุมร่วมกับแผนกต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่ ผู้จัดการ จะต้องกำหนดตั้งแต่เริ่มต้นจ่ายงานให้กับพนักงานในทีมของตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายของแผนกเราคืออะไร แล้วแต่ละคนต้องทำอะไรบ้างเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น เพราะเป้าหมายอันนี้ จะต้องนำไปเป็นผลงานนำเสนอในที่ประชุมใหญ่ หรือในที่ประชุมระหว่างแผนก ซึ่งจะเป็นผลงานทั้งของแผนกเอง หรือผลงานที่ช่วยเหลือเชื่อมโยง หรือซัพพอร์ตแผนกอื่นๆ ดังนั้น การออกแบบรายงานผลงานที่จะต้องนำเสนอ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของ ผู้จัดการ ที่จะต้องกำหนดอย่างถูกต้อง รอบคอบ ชัดเจน

5. ดูแลทีม

ทำหน้าที่ปกป้องลูกน้องของตนเอง ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในองค์กรระหว่างแผนกของเรากับแผนกของคนอื่น นั่นหมายความว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการทำงานของลูกน้องเรา ที่ส่งผลกระทบกับแผนกอื่น ผู้จัดการ คือ คนแรกที่จะต้องรับหน้าที่ไปแก้ปัญหา ประสานงาน หรือรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแทนลูกน้องไปก่อน ต้องไม่ปล่อยให้ลูกน้องเราโดนตำหนิโดยตรงจากแผนกอื่น ผู้จัดการ ต้องรับหน้ารับผิดมาก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยมาแก้ไขปรับปรุง หรือมาว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องของเราด้วยตัวเราเอง หากผู้จัดการปล่อยให้แผนกอื่นมาตำหนิลูกน้องเราโดยตรง จะทำให้ลูกน้องเราเสียความมั่นใจและสูญเสียกำลังใจ เนื่องจากมองว่า ผู้จัดการ ไม่ปกป้องลูกน้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าลูกน้องทำผิดแล้วจะต้องออกหน้าปกป้องลูกน้องอย่างไร้เหตุผล เพียงแต่เราจะต้องเป็นคนรับคำตำหนินั้นจากแผนกอื่นในฐานะ ผู้จัดการ แล้วค่อยมาจัดการกันเองภายในกับลูกน้องของเราในภายหลัง

6. ปฏิบัติตามนโยบาย

ต้องเป็นคนที่เข้าใจถึงนโยบายของบริษัทที่กำลังจะดำเนินการในอนาคต และที่ดำเนินการอยู่ รวมไปถึงปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ ไปอธิบาย สื่อสารต่อกับพนักงาน หรือทีมงานของเราให้เข้าใจถึงภาพรวมขององค์กร และทิศทางที่องค์กรกำลังดำเนินการไป เพื่อทำให้การทำงานของทีมเรา สอดคล้องกับการทำงานของทีมอื่นภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนการทำงานในภาพรวมขององค์กรทั้งหมด

7. กระตือรือร้น

ต้องเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอแม้เราจะเป็น ผู้จัดการ มีความชำนาญในงานที่ทำมาตลอดจนได้รับการโปรโมทให้มาเป็นผู้จัดการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความรู้เหล่านั้น จะสามารถใช้งานได้ตลอดไป โดยไม่มีความล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน ดังนั้น ผู้จัดการ จึงต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือทฤษฎีใหม่ๆ หรือเครื่องหมายเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ในการทำงานในแผนกได้โดยตรง จึงเป็นสิ่งที่ ผู้จัดการ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และต้องเป็นคนที่ทุ่มเทกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะมันจะต้องนำมาอธิบาย สอน หรือพัฒนาทีมงานของเรา เพราะลูกน้องหรือพนักงานอาจจะยังไม่มีความสามารถในการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในขั้นที่ลึกซึ้ง หรือขั้นสูงได้ เนื่องจากประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถ อาจจะยังไม่เพียงพอเรา จึงต้องนำความรู้เหล่านั้นมาย่อย ปรับเปลี่ยนให้เป็นภาษาที่ง่ายเข้าใจง่าย และวิธีการสอนที่ถูกต้องของเรา เพื่อให้พนักงานได้เข้าถึงข้อมูล ความรู้ ทฤษฎี เพื่อจะนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลและเกิดผลงานอย่างรวดเร็ว

8. ดูแล Career path

ต้องคอยดูแลเรื่อง Career path ของพนักงานแต่ละคนด้วย เพราะลูกน้องแต่ละคน มีความเก่ง และมีความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้จัดการ จึงต้องมีการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่ตรงกับความรู้ความสามารถ หรือความถนัดของลูกน้องแต่ละคนเพื่อให้เป็นพื้นฐานไปสู่การเตรียมการ เรื่อง Career path และพัฒนาในหัวข้อที่ตรงประเด็น เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายอย่างชัดเจนและประหยัดงบประมาณมากที่สุด เพราะ ถ้าหากเราไม่มี Career path ชัดเจนของพนักงานแล้ว การฝึกอบรม อาจจะสะเปะสะปะ ทำให้สูญเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย โดยที่ไม่สามารถนำความรู้นั้น มาใช้ประโยชน์ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากไม่ตรงกับ Career path ของพนักงานที่เรากำหนดไว้ การฝึกอบรม เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าฝึกอบรมแล้วไม่นำมาใช้ ก็ถือว่าเป็นการสูญเปล่าทั้งในแง่ของเวลาและค่าใช้จ่าย

9. เป็นผู้นำ

ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการปกครอง ประคับประคองให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้ดีและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งให้น้อยที่สุด เพราะในการทำงานจริงๆ นั้น พนักงานแต่ละคนในทีมงาน ย่อมมีบุคลิกที่แตกต่างกัน มีความคิด มีความเชื่อ มีความศรัทธาที่แตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้มาก ที่จะเกิดความขัดแย้งในระหว่างการทำงาน ดังนั้น ผู้จัดการ จึงมีหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจถึงตัวตนของลูกน้องแต่ละคน และพยายามจัดสรรงาน หรือพยายามประคับประคองให้การทำงานราบรื่นเป็นทีมงานเดียวกัน ซึ่งเป็นศิลปะในการปกครองอย่างหนึ่ง ที่ผู้จัดการจะต้องเรียนรู้ หรืออาจจะถึงขั้นต้องไปฝึกอบรมมา เพื่อจะได้เอามาจัดการแก้ปัญหาตรงนี้ได้

กล่าวโดยสรุป ผู้จัดการ ก็คือ พนักงานในระดับต้นๆ ที่ผ่านการทำงานมายาวนานถึงจุดหนึ่ง มีความชำนาญในงานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นความชำนาญในทางด้านเทคนิคหรือความชำนาญในด้านการบริหารจัดการทั่วไป เป็นผู้ที่มีความสามารถในการวางแผน คาดการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต และสามารถจัดการป้องกัน หรือแก้ปัญหาได้ทันเวลาถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้จัดการได้อย่างเต็มตัว

👉ฝากประวัติกับออร์คิดจ๊อบ

👉บริการสรรหาพนักงาน