ตำแหน่งงาน QC คืออะไร? คุณสมบัติและหน้าที่สำคัญที่ควรรู้
QC หรือ Quality Control เป็นวิชาเรียนที่อยู่ในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม ซึ่ง Quality Control หรือ QC นี้เป็น Apply Science ที่มาจาก Pure Science ในวิชาสถิติ Statistic ดังนั้น คนที่มีความรู้ พื้นฐานทางด้านวิชาสถิติอย่างลึกซึ้งจะเป็นคนที่ทำงาน QC ได้ง่าย และสามารถตัดสินใจได้ในทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน Upper Lower Limit ของการตรวจสอบเพื่อตัดสินใจว่า สินค้าที่ผลิตนั้น อยู่ในช่วงที่ยอมรับได้หรือไม่ รวมไปถึงความสามารถในการคำนวณว่า Defect ที่เกิดขึ้น จะมีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ในการนำสินค้าไปใช้ต่อ และจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้หรือไม่ รวมไปถึงแม้กระทั่งความสามารถในการคำนวณว่า ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ จะพบเจออย่างไร
หน้าที่ของพนักงาน QC จริงๆแล้ว พนักงาน QC นั้นจะเป็นคนที่เปรียบเสมือน ผู้ควบคุมกฎให้ทุกอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งในเรื่องของการผลิตสินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ
- มาตรฐานความยาวของชิ้นส่วนต่างๆที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นเท่าไหร่
- มาตรฐานของน้ำหนักของสินค้าแต่ละชิ้น
- มาตรฐานปริมาตรของสินค้าแต่ละชิ้น
- หรือแม้แต่มาตรฐานอื่นๆที่ใช้ในการผลิตทางด้านวิศวกรรม เช่น ความเร็วรอบต่อนาที ระดับเสียงหรืออื่นๆแล้วแต่ว่าสินค้าตรงนั้นถูกกำหนดให้มีมาตรฐานที่ต้องควบคุมการผลิตในเรื่องใดบ้าง
สิ่งที่พนักงาน QC จะต้องทำ
1. การตรวจสอบ
ตรวจสอบแบบที่ได้รับทั้งหมดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในแบบนั้น ถูกต้องตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ ก่อนนำไปทำการผลิตจริง เพื่อให้แน่ใจว่า ต้นฉบับของแบบพิมพ์เขียวที่ต้องใช้ในการผลิตนั้นถูกต้อง 100% เพราะหากผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาจะผิดพลาดอย่างแน่นอน ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนกระดาษ ที่จะใช้เป็นต้นแบบในการทำจริงนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบอีกครั้งโดย QC เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้อง
2. กำหนดขั้นตอนการผลิต
ในการผลิต ต้องกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบ และความถี่ หรือปริมาณการตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนว่า ในขั้นตอนใดต้องตรวจสอบอะไรบ้าง และจำนวนมาตรฐานที่ยอมรับได้ว่า หากมีความผิดพลาดในส่วนนี้เท่าไหร่ ถึงจะยอมรับว่า การผลิตนั้นยังปล่อยให้ผ่านไปได้ หรือความผิดพลาดที่เลยจากจุดใดไปแล้วไม่สามารถจะปล่อยให้ผ่านไปได้
3. การวางแผน
ต้องมีการวางแผนในภาพรวมว่า ในแต่ละขั้นตอนการผลิตจุดตรวจสอบต่างๆ ถ้ามีความผิดพลาดจุดใดจุดหนึ่งจะปล่อยให้ผ่านได้ แต่หากมีความผิดพลาดหลายๆจุดรวมกันแม้จะผ่านจุดใดจุดหนึ่งได้ แต่หากมีความผิดพลาดในทุกๆจุดรวมกันหลายๆจุด เราจะยอมให้ในภาพรวมนั้น ผ่านไปได้หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การผิดพลาดในจุดที่ 1 ปล่อยให้ผ่านได้
การผิดพลาดในจุดที่ 2 ปล่อยให้ผ่านได้
การผิดพลาดในจุดที่ 3 ปล่อยให้ผ่านได้
แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ เมื่อนำความผิดพลาดของจุดที่ 1, 2 และ 3 มารวมกันในภาพรวมแล้ว จะยังคงปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ เนื่องจากมีความผิดพลาดทั้ง 3 จุดอย่างต่อเนื่องมาทำให้ภาพรวม มีความเสี่ยงสูงมาก QC จึงต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ในภาพรวม
4. การเก็บข้อมูล
ต้องมีการเก็บข้อมูลบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางด้านสถิติ และตัดสินใจได้ว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพราะในทางเศรษฐกิจนั้น
ระดับการควบคุมคุณภาพมีตั้งแต่ 100% คือ ตรวจสอบทุกชิ้นและต้องผ่านทุกชิ้น หากไม่ผ่านแม้แต่ชิ้นเดียว ถือว่าไม่ให้ผ่านเลย
หรือการตรวจสอบที่ระดับความเชื่อมั่น 99%
หรือที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
หรือที่ระดับความเชื่อมั่น 90%
นั่นหมายความว่า ในการผลิตสินค้าครั้งนั้น หากกำหนดมาตรฐาน 100% สินค้าชุดนั้นอาจจะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพและทำให้เกิดความสูญเสียทันที จึงเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมาก เพราะต้นทุนในการควบคุมคุณภาพที่ 100% นั้นสูงมาก ความเสี่ยงสูงมาก จึงทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นต้องสูงมากด้วยเช่นกัน
หากสินค้าชุดเดียวกันนี้ ใช้มาตรฐานการควบคุมคุณภาพความเชื่อมั่น 90% เท่านั้น นั่นหมายความว่า อาจจะผ่านมาตรฐานตรงนี้ได้อย่างสบายมากเพราะมีความผิดพลาดได้ถึง 10% แต่นั่นก็หมายถึง จะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หลังจากสินค้าตัวนี้ ออกสู่ตลาดแล้ว และ 10% ที่เกิดความผิดพลาดนั้น เริ่มส่งผลให้ลูกค้ารับรู้ว่า สินค้าตัวนี้มีปัญหา ซึ่งส่วนนี้ อาจจะมีต้นทุนสูงกว่าระยะยาวในการเรียกสินค้าคืนทั้งหมด และชดเชยค่าเสียหายให้กับลูกค้า จากความผิดพลาดที่มีความตั้งใจปล่อยผ่านหรือพูดง่าย ๆ คือยอมรับความเสี่ยงที่จะปล่อยสินค้าตัวนี้ออกไปสู่ตลาดทั้ง ๆ ที่มีความผิดพลาด 10%
5. ต้องรู้พื้นฐานสถิติ
QC ต้องเป็นคนที่มีพื้นฐานความรู้ด้านสถิติอย่างลึกซึ้ง เพราะสิ่งนี้ต้องใช้ในการตัดสินใจ ก่อนที่จะถึงมือของ QA ว่า สินค้าเหล่านี้จะปล่อยไปสู่ท้องตลาดหรือไม่ เพราะหากในขั้นตอนนี้ QC ทำงานได้อย่างถูกต้อง นั่นหมายความว่า เมื่อถึงปลายทางที่ QA จะต้องทำการสุ่มตรวจอีกครั้งก่อนปล่อยสินค้านั้น สินค้าก็จะผ่านมาตรฐานและผ่านการสุ่มเช็คแน่นอน เนื่องจากทุกอย่างสมบูรณ์แบบ และเรียบร้อยในขั้นตอนของ QC นี้แล้ว
ดังนั้น หัวใจของงานด้าน QC จึงเป็นเรื่องสำคัญของการตรวจสอบ ให้เจอความผิดพลาดและนำข้อมูลเหล่านั้นมาคำนวณพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะปล่อยสินค้าให้ผ่านไปหรือไม่ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาเกิดความผิดพลาด และจะยอมรับความเสี่ยงแค่ไหนที่จะปล่อยให้สินค้าที่มีปัญหาเข้าสู่ตลาดในกรณีที่ไม่ต้องการผลิตสินค้าใหม่ หรือไม่ยอมรับการสูญเสียจากความผิดพลาดในการผลิตสินค้าครั้งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงาน QC จะต้องใช้วิชาการและคณิตศาสตร์และความรู้ทางด้านสถิติ มาเป็นตัวตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นจริง จากข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ตัดสินใจแทน และไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากการที่จะต้องทิ้งสินค้านั้นออกไปและผลิตใหม่ เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ควรจะเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหานี้ มักจะเกิดขึ้นระหว่าง QC กับฝ่ายขายหรือผู้จัดการฝ่ายผลิต เพราะฝ่ายขายหรือผู้จัดการฝ่ายผลิตต้องการให้สินค้าที่ แม้จะมีปัญหาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ พร้อมที่จะเสี่ยงระดับหนึ่งเพื่อออกสื่อสินค้า เพื่อให้สินค้าได้ส่งทันเวลา หรือเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในเรื่องของการยกเลิกสินค้าทิ้งไปแล้วผลิตใหม่ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ปัญหาเหล่านี้ จึงมักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ระหว่างพนักงาน QC กับพนักงานฝ่ายผลิตหรือแม้กระทั่งไปจนถึงพนักงานฝ่ายขายหรือเจ้าของบริษัทเอง ที่ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียจากการ Reject สินค้า
สิ่งเดียวที่พนักงาน QC จะใช้เป็นเกราะป้องกันตัวเองได้ ก็คือ การโต้แย้งทุกอย่างบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นความจริงและบนวิชาสถิติ ที่คำนวณอย่างถูกต้องเท่านั้น ที่จะเป็นตัวตัดสินใจว่า จะปล่อยสินค้าไป หรือจะยกเลิกสินค้าล็อตนั้นไม่ให้ออกสู่ตลาด หน้าที่ของ QC จบอยู่ตรงนี้ตามที่ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นตัวตัดสินตามหลักวิชาการ
ส่วนในเชิงของพาณิชย์นั้น ก็ให้เป็นเรื่องของฝ่ายผลิตและฝ่ายขายหรือแม้แต่เจ้าของบริษัทเอง ที่ต้องเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการตัดสินใจที่จะยอมเสี่ยงปล่อยสินค้าเข้าสู่ตลาดทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันมีความเสี่ยง หรือมันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นระดับหนึ่ง แต่เป็นเหตุผลเนื่องจาก เรื่องของกำไรขาดทุน หรือความล่าช้าในการส่งสินค้า แต่นั่นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงาน QC ต่อไปเพราะพนักงาน QC ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ควรตัดสินใจอย่างไรกับสินค้าล็อตนี้ว่า จะปล่อยไป หรือยกเลิกตามหลักวิชาการตามหลักข้อมูลและตามหลักความถูกต้องของวิชาสถิติที่ใช้ในการตัดสินใจ
กล่าวโดยสรุป ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน QA หรือ QC สิ่งที่จำเป็นต้องมีแน่นอนที่สุดสิ่งแรกก็คือ
1. ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ทางด้านวิชาสถิติอย่างลึกซึ้งชัดเจน เพราะความรู้ทางด้านสถิติ คือ สิ่งที่จะมาใช้ในการตัดสินใจว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับสินค้าที่ผลิตออกมาในชุดนั้นว่า ผ่านมาตรฐานตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับลูกค้าหรือไม่อย่างไร
ซึ่งความส่วนพื้นฐานแรกสุด ก็คือ จะต้องมีความรู้เรื่องของค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการคำนวณช่วงต่ำสุดและสูงสุดของการปฏิเสธสินค้าในหน่วยวัดนั้นๆว่า จากค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ได้มานั้น ค่าต่ำสุดที่ยอมรับได้อยู่ตรงไหนและสูงสุดที่ยอมรับได้อยู่ตรงไหน กี่เปอร์เซ็นต์ตามข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตกับลูกค้าตั้งแต่ครั้งแรกก่อนการผลิต
2. ในกรณีที่เกิดการถกเถียงกันนั้นว่าสินค้าล็อตนี้ แม้จะมีความผิดพลาดอยู่แต่ฝ่ายผลิตอาจจะบอกว่าปล่อยผ่านได้ คิดว่าไม่มีอะไรที่จะได้กังวล จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามของฝ่ายผลิตหรือฝ่ายขายหรือฝ่ายเจ้าของบริษัทเอง พนักงาน QC จะต้องมีความสามารถในการคำนวณค่าความน่าจะเป็น หรือ Probability เพื่อจะตอบคำถามว่า จากการสุ่มตรวจมาแล้วพบว่ามี Defect จำนวนชิ้นเท่านี้ จากการสุ่มตรวจจำนวนชิ้นทั้งหมดเท่านี้ และคำนวณออกมาเป็นความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะพบความผิดพลาดเมื่อนำสินค้านี้ไปใช้หรือนำไปจำหน่ายจริงๆในอนาคต และมาตัดสินใจกันว่า จะยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เราคาดเดาแล้วว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตจากข้อมูลที่เก็บมาจากหลักวิชาการที่ใช้ในการคำนวณ เพื่อให้ความชัดเจนถึงความเสี่ยงหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดปัญหาขึ้นในระยะยาวและพร้อมที่จะรับความเสี่ยงแค่ไหน