บทความนี้จะพาไปดูว่า GM and CEO ต่างกันอย่างไร?
ตำแหน่ง GM, MD, CEO, President ชื่อตำแหน่งเหล่านี้ อาจหมายถึงตำแหน่งเดียวกันหมดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของบริษัท เพราะถ้าหากเป็นบริษัทเล็กๆ และบุคคลคนนั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการดูแลบริษัท ไม่ว่าจะตั้งตำแหน่งเป็น GM, MD, CEO, President หรือจะพิมพ์นามบัตรว่า Owner ก็หมายถึง ผู้นำสูงสุดขององค์กร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบริษัท แต่หาก กรณีที่เป็นองค์กรใหญ่จริงๆ ตำแหน่ง GM General Manager กับตำแหน่ง CEO Chief Executive Officer จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
💎ตำแหน่ง GM (General Manager)
หมายถึง ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งจะอยู่ในระดับที่รองลงมาจากตำแหน่ง CEO อีก 1 ขั้น ตำแหน่ง GM นี้ หมายถึง ตำแหน่งผู้นำในฝ่ายนั้นๆ เช่น GM ฝ่าย HR GM ฝ่าย Production GM ฝ่ายการเงิน GM ฝ่ายขาย หรืออาจจะเป็น GM ฝ่ายอื่นๆ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างบริษัทว่าจะมีการจัดวางฝ่ายต่างๆ ไว้กี่ฝ่าย แต่ส่วนใหญ่เบื้องต้นจะมีเป็น 4 ฝ่ายหลักตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
หน้าที่ของ GM ก็คือต้องทำความเข้าใจ ในนโยบายของบริษัทที่ถูกกำหนดมาโดย CEO แล้วนำนโยบายเหล่านั้น ไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ตรงตามเป้าหมาย ที่บริษัทต้องการให้เป็น ซึ่ง GM เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในฝ่ายนั้นๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทางบวกหรือทางลบ คือ เป็นผลงานของ GM ในการดูแลฝ่ายของตนเอง ดังนั้น GM จึงต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำหน้าที่งานโดยตรงของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ GM มักจะมาจากคนที่อยู่ในฝ่ายนั้นมาก่อนด้วยระยะเวลานาน จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น GM นั่นหมายถึง มีความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางในลักษณะงานที่ได้รับผิดชอบอยู่
💎ตำแหน่ง CEO (Chief Executive Officer)
CEO จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของ GM แต่ละฝ่ายอีกครั้งหนึ่งหมายถึง CEO คือ ผู้ที่จะดูภาพรวมขององค์กร อาจไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เนื่องจากมี GM เป็นคนที่รองรับนโยบายและนำไปปฏิบัติที่หน้างานโดยตรงอยู่แล้ว แต่คนที่เป็น CEO ได้ ย่อมต้องเป็นคนที่ ต้องมีประสบการณ์สูงที่สุด และมีความเข้าใจในหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในเบื้องต้นในระดับที่ลึกซึ้งเพียงพอ เพราะ CEO คือ คนที่ต้องกำหนดนโยบายให้แต่ละฝ่าย ไม่ใช่เพียงแค่กำหนดนโยบายในลักษณะผิวเผิน หรือแนวคิดลอยๆเท่านั้น แต่หมายถึงเป็นผู้ที่จะต้องลงรายละเอียดพร้อมกับ GM ในนโยบายแต่ละเรื่อง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรในรายละเอียดเรื่องนั้น ๆ
CEO จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาย ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานในด้านของการตลาดและการขาย เพราะ CEO จะต้องกำหนดทิศทางของการสร้างแบรนด์ การวางตำแหน่งสินค้า ทิศทางของการพัฒนาฐานลูกค้า และพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาด
📢CEO จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านการเงิน
ส่วนด้านบัญชีนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องมีความรู้ลึกซึ้งก็ได้ เนื่องจากบัญชีเป็นวิชาชีพ ซึ่งเข้าใจยากและเป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมายโดยตรง แต่ในส่วนเรื่องของการเงินนั้น เป็นความรู้พื้นฐานทั่วไปที่ CEO ควรจะต้องมีความรู้ และต้องเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นฐานของการวิเคราะห์ อัตราส่วนทางการเงิน Financial ratio analysis เพราะสิ่งนี้ คือ สิ่งที่จะบ่งบอกถึง สุขภาพของบริษัท ว่าเป็นอย่างไร แม้ CEO จะไม่ได้เป็นผู้ที่ทำเรื่องของรายงานการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินด้วยตัวเองก็ตาม แต่ CEO จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจในผลลัพธ์รับที่อยู่ในรายงานของการวิเคราะห์งบดุลงบกำไรขาดทุนงบกระแสเงินสด และอัตราส่วนทางการเงิน ต้องสามารถแปลความหมายได้ว่า อัตราส่วนทางการเงินแต่ละตัวนั้น บ่งบอกถึงสุขภาพของบริษัทว่าเป็นอย่างไร จะต้องแก้ไขอย่างไร จะต้องกำหนดนโยบาย หรือทิศทางอย่างไร
เพื่อให้อัตราส่วนทางการเงินทั้ง 32 ตัวนั้น มีความสมดุล เหมาะสม เพราะอัตราส่วนทางการเงินจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่า สุขภาพของบริษัทตอนนี้เป็นเช่นไร เช่น แขนใหญ่เกินไป อ้วนเกินไป ขาลีบเกินไป เลือดหมุนเวียนน้อยเกินไป ความดันตก ความดันขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อัตราส่วนทางการเงิน เหมือนผลตรวจเลือด ที่บ่งบอกว่า ฟังก์ชันต่างๆ ในร่างกาย หรือในบริษัทมีความบกพร่องที่จุดใดบ้าง จุดใดบ้างที่กำลังดี และจุดใดบ้างที่มากเกินไปสุดท้าย CEO ต้องเป็นคนกำหนดทิศทางการทำงานทั้งหมด เพื่อปรับสมดุลให้อัตราส่วนทางการเงินทั้ง 32 ตัวนั้น อยู่ในจุดที่สมดุลที่สุด ไม่มีอะไรที่ด้อยเกินไป หรือไม่มีอะไรที่เด่นเกินไป เพราะสุขภาพที่ดีขององค์กร คือ สุขภาพที่มีความสมดุลในทุกอัตราส่วนทางการเงิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่คนที่เป็นตำแหน่ง CEO ต้องมีความรู้เรื่องนี้ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีคนที่ชี้นำทิศทางของบริษัทได้อย่างเหมาะสม
📢CEO ควรจะมีความรู้ด้านการผลิตสินค้าในเบื้องต้น
เนื่องจากเป็นผู้นำในองค์กรสูงสุด จึงต้องรู้จักสินค้าขององค์กร และขั้นตอนการผลิตสินค้านั้นว่า มีความยากง่ายมากน้อยเพียงใด มีปัจจัยดที่ทำให้ติดปัญหาใดๆ บ้าง ที่เกี่ยวกับการผลิต ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพของสินค้าและต้นทุนของสินค้าที่จะออกมา และสามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้ CEO จะไม่ได้จบมาในด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า CEO จะปฏิเสธการรับรู้ในกระบวนการผลิตได้ เพราะกระบวนการผลิต คือสิ่งที่จะนำไปสู่คุณภาพและต้นทุน หาก CEO ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่สนใจในเรื่องการผลิต ย่อมจะทำให้การกำหนด Pricing policy ในระยะยาวมีปัญหาและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้ ต้นทุนสินค้า คือ จุดเริ่มต้นของการขายและการทำการตลาด ถ้าต้นทุนสินค้าไปไม่ได้ การแข่งขันก็ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก และสินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันเช่นกัน แต่ถ้า CEO นั้นจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็จะสามารถเข้าใจถึงกระบวนการผลิตและกระบวนการควบคุมต้นทุนได้มากที่สุด โดยที่ไม่สูญเสียคุณภาพของสินค้า ทำให้ CEO สามารถกำหนดทิศทางหรือนำฝ่ายผลิตไปในทิศทางที่ถูกต้องได้
📢CEO จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องของการบริหารจัดการคน
นั่นหมายถึง CEO ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของ HR หรืองานบริหารบุคคล เพราะ คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร พนักงานในองค์กร ก็เปรียบเสมือนลูกค้าคนหนึ่งของบริษัทเช่นกัน หาก CEO ไม่เข้าใจถึงหลักการบริหารพนักงานให้เกิดความสุข และมีความสามารถในการทำงานแล้ว ย่อมทำให้สินค้าที่ออกมา หรือบริการที่ส่งมอบให้กับลูกค้านั้นเกิดความบกพร่องหรือไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด สิ่งที่ CEO ควรจะต้องให้ความสำคัญในฐานะผู้นำองค์กรเกี่ยวกับเรื่องของ HR ก็คือ ขวัญและกำลังใจ การอยู่ดีมีสุขของพนักงาน ค่าตอบแทน กฎระเบียบบริษัท และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร รวมไปจนถึงการสร้าง Mind Set ที่ดีให้กับองค์กร
องค์กรจะเป็นเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของ CEO แนวคิดของ CEO ปรัชญาชีวิตของ CEO ที่จะกำหนดเป็นนโยบายของบริษัท ดังนั้น เราจึงจะคาดเดาได้ว่า CEO ของบริษัทเหล่านั้น เป็นคนเช่นไร โดยดูจากวัฒนธรรมองค์กร Mindset ของพนักงาน พฤติกรรมของพนักงานในองค์กร ปรัชญาชีวิตของพนักงานต่างๆ ในองค์กร จะสะท้อนมาจากบุคลิกของ CEO โดยตรง และจะบ่งบอกถึงความคาดหวังในคุณภาพสินค้าและคุณภาพของบริการได้ไม่ยากเหมือนในอดีตที่มีคนเคยกล่าวเชิงล้อเลียนว่า ถ้าอยากรู้ว่า CEO เป็นอย่างไรให้ดูเลขาของ CEO ว่าเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกอย่างไรเพราะนั่นคือ กระจกสะท้อนภาพของคนที่เป็น CEO โดยตรงได้ระดับหนึ่ง
🔎 ส่วน GM คือคนที่ต้องทำงานร่วมกันโดยตรงกับ CEO อย่างใกล้ชิดในแต่ละฝ่าย ดังนั้น GM ย่อมได้รับอิทธิพล หรือพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับ CEO เพราะทำงานใกล้ชิดกันตลอด จะได้รับนโยบายให้ถ่ายทอดและแนวทางในการทำงาน ดังนั้น GM จึงต้องเป็น ผู้ที่ควรจะมีหลักการในการทำงานที่ดี และมีความกล้าหาญที่จะพูดคุยกับ CEO ในกรณีที่ CEO อาจจะนำทิศทางที่ผิด หรือตัดสินใจบางอย่างไม่ถูกต้อง GM ควรจะมีหน้าที่ ทัดทาน ท้วงติง หรือขออธิบาย เพื่อแสดงความเห็น หรือทัศนคติที่คิดว่าควรจะเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเกิดความเสียหาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในองค์กรต่างๆ ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่จะไม่กล้าขัดใจ CEO เพราะกลัวจะมีปัญหาเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง จึงทำให้ เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อ CEO ทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือ กำหนดทิศทางที่ผิดพลาด และ GM ก็ไม่กล้าทวงจริง เพราะไม่อยากมีปัญหากับอนาคตการทำงาน มันจึงเป็นสาเหตุเริ่มต้นของความล้มเหลวของบริษัท ที่เริ่มต้นมาจากความผิดพลาดของ CEO และความไม่กล้าหาญของ GM ที่จะท้วงติง เพื่อให้แก้ไขในสิ่งที่ถูกต้อง
ดังนั้นคนที่เป็น GM จึงต้องเป็นคนที่มีความรู้ในหน้างานอย่างชัดเจน และที่สำคัญต้องเป็นคนที่กล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ขององค์กรและความสุขของพนักงาน GM ไม่ควรจะเป็นคนที่ลู่ตามลมจนทำให้หลงทางกันไปทั้งบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัว CEO ด้วย เพราะถ้า CEO เป็นคนที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาย่อมจะเป็นคนที่กล้าฟังในสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน หรือเปิดโอกาสให้ GM พูดในสิ่งที่เขาควรจะพูดอย่างกล้าหาญ เพื่อเป็น Safety check และทำให้ CEO มีโอกาสได้คิดทบทวนอีกครั้ง Think Twice เพราะความผิดพลาดของ CEO และ GM นั้น จะนำความเสียหายมาสู่บริษัท ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงานทั้งหมดขององค์กร ซึ่งไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการปกป้องตนเองจากความผิดพลาดอันนั้นได้
จึงอยากจะบอกว่า คนที่จะดำรงตำแหน่ง CEO และ GM นั้น ต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง นึกถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักก่อนประโยชน์ของส่วนตัว และต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นคนที่ไม่มี Ego ต้องสามารถรับฟังในสิ่งที่เป็นความจริง แม้ไม่อยากได้ยิน แต่มันคือสิ่งที่จะทำให้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาได้ทันเวลาและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตได้และจะทำให้บริษัทอยู่รอดและปลอดภัยในที่สุด