“ไม่เลือกงานไม่ยากจน” อาจไม่จริงเสมอไป เพราะหากทำไปก่อนโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีทั้งที่ไม่อยากทำ รายจ่ายทั้งหมดเมื่อหักลบจากรายได้ของงานนั้นแล้ว อาจไม่เพียงพอ เดือนชนเดือนตลอด สุขภาพก็แย่ลงทุกวัน ไม่มีความสุขกับงาน อยากลาออกทุกวันแต่ก็ยอมทน เวลาให้ครอบครัวก็น้อยลงทุกที ซึ่งถ้าเราเจอสถานการณ์แบบนี้อาจหนักกว่าคำว่า “ยากจน”
.
ที่สุดแล้ว เราก็ต้องเลือกงานที่เหมาะสมค่ะ นอกจากตรงทักษะความสามารถ หรือความชอบความอยากที่จะทำงานนั้นซึ่งสำคัญสุด รายได้ก็ต้องเพียงพอด้วย
.
แล้วงานยุคนี้จะหาจากไหนที่ให้เงินเดือนได้เพียงพอกับรายจ่ายเรา ?
เบื้องต้นควรหางานที่ใกล้บ้านที่สุดก่อนค่ะ เพราะแม้เงินเดือนไม่เยอะมาก แต่ถ้าค่าเดินทางไม่สูง รายได้ที่เหลืออาจพอ ๆ กับงานที่ให้เงินเดือนสูงกว่าแต่อยู่ไกลกว่าก็เป็นได้นะคะ แต่ถ้างานนั้นอยู่ไกลไปหน่อย ก็ต้องลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูก่อน ว่าเมื่อหักลบแล้วเราไหวไหม หรือสะดวกที่จะไปเช่าที่พัก หรือมีบ้านญาติที่สะดวกให้เราไปพักด้วยไหม
.
แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือ งานไม่ยอมเลือกเรานี่สิ สมัครไปแล้วไม่ได้สักที อยากให้งานเลือกเราต้องทำไง ?
สำคัญสุดคือเรซูเม่ค่ะ ถ้าเลือกสมัครงานโดยการใช้เรซูเม่ใบเดิมหว่านส่งไปรัว ๆ โอกาสแทบไม่มีเลยนะคะ เทคนิคที่ต้องทำทุกครั้งคือ อ่านประกาศให้จบอย่างละเอียด ถ้างานนั้นใช่เลย เรานี่แหละมีความสามารถตรงตามที่เขาประกาศ อย่าเก็บไว้คนเดียวค่ะ ต้องโชว์มันออกมาให้ HR เห็นในเรซูเม่ด้วย ก่อนจะส่งต้องตรวจสอบก่อนว่าเราโชว์คุณสมบัตินั้นลงเรซูเม่รึยัง ถ้ายัง ต้องปรับแก้ให้ตรงตามที่เขาประกาศก่อน
.
และที่ย้ำอยู่เสมอเลยคือ งานของแต่ละบริษัทต่างกำหนดคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เทคนิคข้างต้นนี้สำหรับใช้สมัคร 1 บริษัทเท่านั้นนะคะ ต้องปรับเรซูเม่ให้ตรงความต้องการของเขาก่อนแล้วค่อยส่งไป
แต่สิ่งที่ระบุต้องเป็นคุณสมบัติความสามารถที่เรามีจริงเท่านั้นนะคะ ในบางตำแหน่งงานที่ดูว่าตรงกับสายเรา แต่คุณสมบัติที่เขากำหนด เราอาจจะไม่มีก็ได้ เช่น บริษัท B รับสมัคร การตลาดออนไลน์ ต้องมีทักษะการพูดภาษาจีน แล้วถ้าเราใช้เรซูเม่ที่โชว์เฉพาะความสามารถด้านการตลาดซึ่งเคยใช้ส่งกับบริษัท A มาส่งกับบริษัท B โอกาสก็ศูนย์อยู่ดี เว้นแต่ว่า เราจะพูดจีนได้แล้วระบุลงในเรซูเม่ด้วย
.
สรุปแล้วการหว่านเรซูเม่ที่เพิ่มโอกาสให้ได้งานเร็วขึ้นจริง คือต้องเจองานที่ใช่แล้วปรับเรซูเม่ให้ตรงและหว่านไป 1 ใบต่อ 1 บริษัท เว้นแต่ว่า เจอ 2 บริษัทที่กำหนดคุณสมบัติเหมือนกัน อันนี้ใช้ใบเดิมได้ค่ะ แต่มันเป็นไปได้ยากมากเลยนะคะที่จะเจอแบบนี้
.
ข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาเรียกสัมภาษณ์มากที่สุด คือ “ประสบการณ์” เพราะเป็นส่วนที่สร้างความน่าเชื่อถือและยืนยันในความสามารถของผู้สมัคร นอกจากข้อมูลบริษัท ระยะเวลาและตำแหน่งที่เคยทำงาน ซึ่งต้องระบุให้ครบ ถูกต้องและชัดเจน แต่ที่หลายคนตกม้าตายก็เพราะการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบแบบสั้น ๆ จนหาความน่าสนใจไม่เจอแม้แต่นิดเดียว
.. ขอยกตัวอย่างนะครับ ระหว่าง
นาย ก เขียนข้อมูลด้านทักษะในเรซูเม่ว่า มีทักษะการออกแบบ และเขียนข้อมูลประสบการณ์ทำงานแค่ว่า เคยทำงานในตำแหน่ง Graphic Designer หน้าที่ความรับผิดชอบคือ ออกแบบสื่อโฆษณา . จบ
นาย ข มีทักษะด้านการออกแบบเหมือนกัน มีประสบการณ์ในตำแหน่งงานเดียวกัน แต่เขียนหน้าที่ความรับผิดชอบ คือ
1. ออกแบบสื่อโฆษณาสำหรับประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพลงใน Facebook และ IG โดยใช้โปรแกรม Photoshop
2. ร่วมออกแบบหน้าเว็บไซต์ของบริษัทธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกับ UX/UI Designer โดยใช้โปรแกรม Adobe Illustrator
3. ร่วมวิเคราะห์งานกับทีม Content Marketing เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าในการมีส่วนร่วมกับ Content มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาการออกแบบสื่อโฆษณาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
แม้ 2 ท่านนี้จะมีทักษะการออกแบบเหมือนกัน แต่การระบุแบบนาย ก ก็ไม่รู้เลยว่า ออกแบบอะไร,ใช้เครื่องมืออะไรทำงานได้บ้าง
ส่วนนาย ข เห็นทักษะความสามารถชัดเจนเลย แถมยังเห็นกระบวนการทำงานเป็นทีมที่แสดงให้เห็นว่ามีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Soft Skills) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกตำแหน่งงานต้องมีอีกด้วย
และถ้าคุณเป็น HR คงเลือกได้ทันทีเลยใช่ไหมครับ ว่าต้องรีบโทรนัดสัมภาษณ์ใคร !!
อยากบอกว่า ตัวอย่างของนาย ข 3 ข้อด้านบน คือเทคนิคการเขียนประสบการณ์เลยครับ จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรยาก ไม่ต้องกังวลเลยครับว่าเขียนไปจะผิดหรือถูก เรื่องนี้มันอยู่ที่ว่า คุณจะลงรายละเอียดงานออกมาได้มากแค่ไหน
คีย์สำคัญก็คือ ควรเขียนเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ HR อ่านง่าย เคยทำอะไรบ้างเอาออกมาโชว์ให้หมด แต่ต้องระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำ คืออะไร ,สำหรับอะไร ,โดยใช้เครื่องมือใด และเรซูเม่จะโดดเด่นมากขึ้น ถ้าระบุไปถึงกระบวนการทำงาน ว่ามีวิธีทำงานอย่างไร ทำเพื่ออะไรและมีวิธีพัฒนาอย่างไรให้งานดีขึ้น (เหมือนตัวอย่างนาย ข ที่มีการวิเคราะห์งานกับทีม Content Marketing) แบบนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถแล้ว ยังเห็นด้วยว่าคุณเข้าใจการทำงานเป็นทีมและใส่ใจในงานที่ทำ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ใคร ๆ ก็ต้องการรับเข้าทำงาน
ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรระบุความสามารถที่โดดเด่นไว้ข้อบน ๆ นะครับ เพราะนั่นคือทักษะหลักของการทำงานในตำแหน่งที่คุณสมัคร และอีกประเด็นสำคัญก็คือ อาจมี HR บางท่านอ่านไม่จบ และถ้าเห็นในข้อบนว่าคุณมีเพียงทักษะรอง (แต่เขาต้องหาคนที่โดดเด่นในทักษะหลัก) เขาอาจไม่สนใจอ่านข้อมูลในข้อต่อไป เรซูเม่ของคุณอาจไม่มีโอกาสเลยก็เป็นได้
และถ้า HR โทรมานัดสัมภาษณ์แล้ว ก่อนวันสัมภาษณ์ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุดด้วยนะครับ