fbpx
04ก.ค.

การเสี่ยงคงเป็นเรื่องที่พูดให้ลองก็เหมือนจะง่ายแต่ทำจริงๆ ก็คงจะยากอยู่เหมือนกัน ผมเองเขียนเรื่องการพัฒนาตัวเองซึ่งประเด็นว่าด้วยการเสี่ยงก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ และพอมาเป็นเรื่องของหน้าที่การงานหรือการตัดสินใจในการทำงานก็จะยิ่งแล้วใหญ่ (เพราะมันก็เกี่ยวกับอนาคตของคนเลยก็ว่าได้) วันก่อนผมก็ไปอ่านบทความของ The Muse ว่าด้วยการเสี่ยง (หรือการตัดสินใจ) บางอย่างในการทำงานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่คุณควรจะลองเสี่ยงอยู่เหมือนกัน (ในบทความถึงกับใช้คำว่าถ้าคุณไม่เสี่ยงจะเสียใจเลยทีเดียว) เลยขอหยิบเอาแนวคิดจากบทความนั้นมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นไอเดียให้พิจารณาแล้วกันนะครับ

1. จ้างหรือให้โอกาสคนที่ไม่น่าจ้าง

เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าคุณควรเลือกคนประเภทสุดขั้วชนิดไม่ควรเอามาทำงานหรอกนะครับ แต่มันหมายถึงการลองมองเห็นความสามารถของคนมากไปกว่า Resume ที่ส่งเข้ามาให้คุณกรองต่างหาก เรื่องนี้มีสถิติน่าสนใจเพราะ Jeff Harden ซึ่งเป็นคนเขียนบทความนั้นทำแบบสอบถามบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งก็พบว่าหนึ่งในบรรดาลูกจ้างที่โดดเด่นชนิดเป็นเพชรของบริษัทคือคนประเภทที่ตอนสมัครนั้นไม่ใช่พวกที่ตรงกับ Qualification เลย เรื่องความสามารถของพนักงานนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่พอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่มักมองเรื่องทักษะและประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือก ทำให้เรามักมองหาคนจากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน แต่หลายๆ ทีเราจะเจอคนเก่งๆ ที่ประสบการณ์ยังน้อยแต่เต็มไปด้วย “ไหวพริบ” “ทัศนคติ” และ “วิสัยทัศน์” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากประวัติการทำงานเลย และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่คุณอาจจะต้องคิดกันเสียหน่อยเวลาหาคนมาทำงานให้กับองค์กรของคุณครั้งต่อไปล่ะ

2. ขอโทษกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

บางครั้งเรามักจะเจอสถานการณ์ที่ได้ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่ไปจนประเภทอยากจะมุดดินหนี ไม่กล้าที่จะขอโทษเพราะมันจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์หรือประวัติของเราแย่ แต่ก็อีกนั่นแหละที่บางครั้งการขอโทษอาจจะทำให้คุณได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้ (อันที่จริงการขอโทษไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ) แม้ว่าการยอมรับความผิดพลาดนั้นจะทำให้คุณดูแย่ในสายตาหลายๆคน จะทำให้คุณต้องพบกับความอับอาย แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้คุณไม่ได้รับผิดมันก็แย่อยู่แล้ว การที่คุณกล้าเสี่ยงขอโทษนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ทำให้ตัวคุณหลุดจากบ่วงหรือความอึดอัดหลายอย่างได้ในภายหลัง ผมลองคิดๆดูแล้ว ชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่เป็นความทรงจำฝังใจ และมันมักทำให้เรารู้สึกจี๊ดใจเวลานึกถึงอยู่เหมือนแผลที่ไม่เคยถูกรักษา ซึ่งมันก็อาจจะดีกว่าถ้าคุณต้องเจ็บสักครั้งแต่ทำให้แผลนั้นหายหรือไม่ติดค้างอะไรอีกต่อไปนั่นแหละ

3. เผชิญหน้ากับสิ่งที่คุณกลัวที่สุด

คนเราล้วนมีความกลัว ล้วนมีบางเรื่องที่รู้สึกไม่มั่นใจเป็นเรื่องธรรมดา การงานก็เช่นกันที่คุณจะมีงานที่คุณกลัวที่จะทำ หรือกับสายงานที่คุณลำบากใจหากต้องไปยุ่ง แต่ก็อย่างว่าแหละครับว่าในบรรดาสิ่งที่คุณกลัวหรือคุณไม่กล้าเผชิญนั้นก็ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสซึ่งคุณไม่เคยเข้าไปแตะต้องมัน และถ้าคุณกล้าจะเสี่ยงไปเผชิญหน้าหรือลองทำมันแล้ว ดีไม่ดีมันจะออกมากลายเป็นว่าคุณได้โอกาสอย่างไม่น่าเชื่อเลยก็ได้ เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งน่าคิดว่าคนทำงานเก่งๆนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องที่กลัว เพียงแต่เขารู้ว่าการอยู่กับความกลัวตลอดไปไม่น่าจะใช่คำตอบเสียทีเดียว พวกเขาเลยลองทำโน่นทำนี่ กล้าที่จะเสี่ยงกับบางอย่างใหม่ๆที่อาจจะไม่เคยทำ (และบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เขากลัวด้วย) และการที่เขาลองทำอะไรนี่แหละทำให้ศักยภาพของเขามากขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆและสุดท้ายกลายเป็นว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้มากมายกว่าคนทั่วๆไปนั่นแหละครับ

4. ทำในสิ่งที่คุณอยากทำแม้ว่าจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง

เรามักเห็นบ่อยๆว่าไอเดียบรรเจิดๆของคนๆหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นเป็นอะไรที่ “ผ่าเหล่า” บ้างก็ชนิดคนทั่วไปคงร้องยี้หรือเบือนหน้าหนี แน่นอนว่าปรกติแล้วคนรอบข้างคุณก็มักจะมีความเห็นหลายๆอย่างซึ่งก็จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคุณแต่ก็นั่นแหละที่ถ้าคุณเอาแต่ฟังคนอื่นเพื่อมาคอยคอนเฟิร์มคิดอยู่ตลอดก็คงจะไม่ใช่เรื่องเข้าท่าสักเท่าไร บางเรื่องเป็นสิ่งที่คุณรู้สึกอยู่ลึกๆหรือเป็นประเภทที่ตัวตนของคุณร่ำร้องว่าต้องทำอย่างนั้น และคุณก็ควรจะลองเสี่ยงไปกับมันแทนที่จะรอฟังความเห็นคนอื่นๆ (ซึ่งก็มักจะเป็นตัวเบรกนั่นแหละ) ถ้าคุณรู้สึกกับอะไรมากๆหรือมีความฝันที่อยากทำในงาน ลองเสี่ยงกับมันบ้าง อย่าปล่อยให้การทำงานประสาคนออฟฟิศตีกรอบให้คุณไม่ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ เลย

5. ให้ความช่วยเหลือคนอื่น

ผมเชื่อว่าหลายๆคนมักจะเจอบรรยากาศประเภท “อย่าไปเสนอความคิดเห็นเลย ไม่ใช่เรื่องของเรา” อยู่บ่อยๆ และนั่นทำให้ในองค์กรมักเจอสถานการณ์พวกต่างคนต่างทำ แต่เอาจริงๆแล้วถ้าคุณรู้เรื่องบางเรื่องที่พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้ มันก็คงไม่ได้แย่อะไรนักหรอกถ้าคุณจะยื่นมือเข้าไปช่วย หรือสนับสนุนคนอื่นๆ แม้ว่าเรื่องนั้นๆจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณเลยก็ตาม แน่นอนว่าการทำอย่างนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นพวกเสนอหน้า หรืออาจจะสร้างภาระให้กับตัวเอง แต่ในหลายๆครั้งที่คุณก้าวไปช่วยคนอื่นก็ทำให้คุณได้ผลประโยชน์ตามมาอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ ตลอดไปจนความรู้บางอย่างที่คุณอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ถ้ายังคงง่วนอยู่กับงานตัวเองอย่างเดียวนั่นแหละครับ