fbpx
27ธ.ค.

1. บริหารข้อมูลในการเขียนเรซูเม่ให้ดี

เรซูเม่เป็นเอกสารแนะนำตัวเองในแบบฉบับรวดเร็ว ที่มุ่งเน้นให้ HR สามารถมองแล้วเข้าใจได้ภายใน 1 นาทีว่าตัวเราเป็นใคร จบการศึกษาจากไหน คณะอะไร ผ่านการทำงานอะไรมาบ้าง ถนัดทักษะพิเศษด้านไหน เรซูเม่ที่ดีจึงควรที่จะต้องเขียนให้จบใน 1 หน้ากระดาษเท่านั้น

การใส่ข้อมูลในกรณีบัณฑิตจบใหม่

  • ข้อมูลส่วนตัว 10% : ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย
  • ประสบการณ์ฝึกงาน หรือโปรเจคจบ 30%   
  • รายละเอียดการศึกษา 30%
  • ทักษะต่าง ๆ 10% : ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ
  • กิจกรรมตอนเรียน 20%

สำหรับผู้สมัครงานมีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว

  • ข้อมูลส่วนตัว 10% : ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย
  • ประสบการณ์ทำงาน 60%
  • รายละเอียดการศึกษา 10%
  • ทักษะต่าง ๆ 20% : ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ

2. การเขียนเรซูเม่ไม่ควรเว้นพื้นที่ว่างไว้ เพราะเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเอง

การใส่ข้อมูลให้ครบในเรซูเม่เป็นจุดสำคัญของการสมัครงาน ซึ่ง HR จะมองภาพรวมของตัวคุณจากการที่คุณปล่อยพื้นที่ว่างเอาไว้ด้วย ถ้ามีพื้นที่ปล่อยว่างในเรซูเม่ HR จะมองว่าคุณไม่รู้จักตัวเองดีพอจึงไม่มีข้อมูลที่จะมานำเสนอ และคนที่ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ก็อาจยังไม่พร้อมในการทำงานแน่นอน

3. การใส่รูปถ่ายในเรซูเม่ ควรใส่รูปถ่ายที่สุภาพแสดงความตั้งใจ

ผู้สมัครงานจะต้องแสดงความเป็นมืออาชีพ ผ่านรูปสมัครงาน รูปในการสมัครงานควรใช้รูปที่เรียบร้อย และมีความคมชัด รวมถึงไม่เลือกรูปที่ถ่ายนานกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี สามารถใช้รูปถ่ายตัวเองหน้าตรง มีการเห็นหน้าตาที่ชัดเจนบนพื้นหลังเรียบ ๆ ส่วนรูปในเรซูเม่ที่ HR ได้รับ แล้วโดนโยนทิ้งทันที เช่น รูปเซลฟี่ รูปไปเที่ยว รูปถ่ายตัวเองสะท้อนในกระจก เป็นต้น

4. เขียนรายละเอียดส่วนตัว การติดต่อของตัวเอง ให้ชัดเจน

อีกหนึ่งจุดที่หากพลาดจะเรียกว่าตกม้าตายก็เป็นได้ ถ้าคุณเขียนเรซูเม่มาอย่างดีแล้ว แต่ใส่เบอร์โทรศัพท์ผิด อีเมล์ผิด HR ก็ไม่สามารถติดต่อนัดคุณไปสัมภาษณ์งานได้ ดังนั้น การเขียนข้อมูลให้ถูกต้อง ควรอ่านตรวจทานหลาย ๆ รอบให้ถูกต้อง และสำหรับผู้ที่เขียนที่อยู่ของตัวเอง อยู่คนละจังหวัดกับบริษัทที่สมัครงาน ให้ระบุไว้ให้ดีว่าเรากำลังหางานในจังหวัดนี้จริง ๆ ไม่ได้สมัครงานข้ามจังหวัดโดยที่เราไม่รู้

5. ใส่รายละเอียดของประสบการณ์การทำงานให้ชัดเจน และมีข้อมูลมากพอ

ส่วนสำคัญที่สุดของการเขียนเรซูเม่ในการสมัครงาน คือส่วนของรายละเอียดในประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา แนะนำให้ใส่ข้อมูลให้เยอะมากพอ ทั้งชื่อบริษัท ตำแหน่งงาน รายละเอียดงานคร่าว แต่ไม่ควรใส่มากจนเกินไป ทำให้อ่านจับใจความได้ยาก และถ้าหากว่าคุณเป็นบัณฑิตจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน ให้ใส่รายละเอียดของประสบการณ์ฝึกงานลงไปในส่วนนี้แทน อย่าปล่อยว่างเอาไว้เด็ดขาด เพราะเมื่อคุณคือเด็กจบใหม่ คู่แข่งของคุณก็คือเด็กจบใหม่เหมือนกัน และ HR ก็มักจะเลือกเด็กจบใหม่ที่มีความเข้าใจ และเขียนรายละเอียดการฝึกงานของตัวเอง

6. ใส่รายละเอียดข้อมูลการศึกษาของตัวเอง

การใส่ข้อมูลการศึกษาควรใส่ข้อมูลจากวุฒิสูงไล่ลงไปถึงวุฒิต่ำ เรียงลำดับลงมาโดยใส่ชื่อสถานศึกษา คณะ เอก อย่างละเอียด ชัดเจน โดยส่วนมากจะระบุถึงแค่มัธยมเท่านั้น และที่ต้องระบุคณะ เอก โท อย่างชัดเจน เพราะว่ามีงานเฉพาะทางหลาย ๆ งานที่จะรับเฉพาะนักศึกษาบางคณะ หรือบางเอกเท่านั้น เช่น วิศวกรรมโยธา สถาปนิกภายใน กฎหมาย เป็นต้น

และข้อสงสัยที่หลายๆคนตั้งคำถาม คือ ต้องใส่เกรดเฉลี่ย (GPA) ลงไปด้วยไหม ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องใส่ลงไป ไม่ได้มีการบังคับถ้าคุณมีเกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.00 ขึ้นไป เพิ่มโอกาสในการได้งานของคุณได้ แต่ถ้าคุณมีเกรดที่ต่ำกว่า 2.50 การเลือกที่จะไม่ใส่เกรดลงไปจะทำให้คุณได้งานง่ายกว่าได้

7. สกิลทางด้านภาษาต่าง ๆ

ความสามารถทางด้านภาษา ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรซูเม่ของคุณ ภาษาที่สองที่ควรจะได้กันก็คือภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเก่ง หรือไม่เก่งอย่างไร ก็ควรจะใส่ลงไปในเรซูเม่ด้วย ส่วนภาษาที่สามขึ้นไป ถือเป็นกำไรชีวิต สามารถใส่ลงไปได้เช่นกัน การใส่ระดับภาษาให้ใส่เป็นคำ ยกตัวอย่างเช่น คำว่าดี ปานกลาง พอใช้ หรือหากมีการทดสอบระดับภาษา สามารถใส่คะแนนลงไปได้เช่นกัน

8. สกิลเฉพาะทางต่าง ๆ

สกิลเฉพาะทางต่าง ๆ ที่จะนับเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น เช่น

สมัครงานโปรแกรมเมอร์ : สามารถเขียนภาษา Java, Php, หรือ .Net ได้

สมัครงานคลังสินค้า : สามารถขับรถโฟล์คลิฟท์ได้ มีใบขับขี่โฟล์คลิฟท์

สมัครงานเภสัชกร : สามารถใส่เลขที่ใบอนุญาตของเภสัชกรลงไปในนี้ได้

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ แถบกราฟแสดงค่าพลัง เพราะทั้งดูยาก อ่านยาก และสุดท้ายหลาย ๆ บริษัทก็มีการสอบเข้าทำงานเพื่อวัดความสามารถจริงก่อนการเริ่มงาน

9. การใส่งานอดิเรก ควรเลือกใส่เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับงานเท่านั้น

งานอดิเรกไม่ว่าจะเป็นดูหนังฟังเพลงต่าง ๆ ถือเป็นข้อมูลที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ดี แต่ถ้าจะให้ดีก็ไม่ต้องใส่ดีกว่า เพราะว่า เรซูเม่คือพื้นที่สรุป ที่ใช้แสดงถึงประวัติการทำงาน ให้นำงานอดิเรกออกไป แล้วไปใส่ข้อมูลในส่วนอื่นให้มากกว่านี้แทน ยกเว้นว่างานอดิเรกบางอย่างที่มีประโยชน์ และถ้าใส่มันลงไปในเรซูเม่ก็จะมีผลดี

10. รูปแบบธีมเรียบ ๆ มีข้อมูลเต็ม ๆ คือผู้ชนะ

เพราะว่า HR จะให้ความสำคัญกับข้อมูล การสรุปข้อมูล การจัดเรียงข้อมูล แต่มีข้อยกเว้นเช่นกัน 1% ของเรซูเม่สีสันฉูดฉาดที่ได้งานนั้น จะเป็นกลุ่มผู้สมัครงานด้านครีเอทีฟ งานด้านกราฟฟิกดีไนเนอร์ เท่านั้น ที่จะต้องเน้นแสดงฝีมือของตัวเองลงในเรซูเม่นั่นเอง

11. ส่งเป็นไฟล์ PDF เท่านั้น

อย่าส่งเรซูเม่เป็นไฟล์ .doc หรือ .docx ให้ HR โดยเด็ดขาด ให้แปลงไฟล์เป็น PDF ก่อนแล้วจึงส่งสมัครงาน เพราะเมื่อนำไปเปิดที่เครื่องไหน ก็จะได้หน้าตาเหมือนกัน และไม่สามารถแก้ไขข้อมูลของเราได้ รวมไปถึงการส่งเรซูเม่เป็นไฟล์รูปภาพด้วย ถือเป็นการทำงานที่ไม่เรียบร้อยและไม่มืออาชีพ