fbpx
10มี.ค.

เงินเดือนหมดไว เคล็ดลับวางแผนการเงินให้พอใช้

ในความเป็นจริงของชีวิตแล้วสิ่งสำคัญคือการบริหารการเงิน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองข้ามไป เพราะไม่คิดว่า มันจะมีความสำคัญหรือจะส่งผลสำคัญอย่างไรกับชีวิตในอนาคต ทำให้วินัยการใช้เงิน หรือการวางแผนในการใช้เงิน ไม่ได้เกิดขึ้นสุดท้าย ก็มีการจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ได้ระมัดระวัง และจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจะจ่าย หรือยังไม่ควรจะจ่ายในเวลานี้ เหมือนที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า  it is nice to have but it is not really necessary เรามาลองดูซิว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

แหล่งที่มาของรายได้และการวางแผนการเงิน สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ แหล่งที่มาของรายได้ เรามีแหล่งที่มาของรายได้จากอะไรบ้าง ลักษณะการมาของรายได้ ลักษณะการหมดไปของรายได้ จำนวนของรายได้ และสัดส่วนของรายได้

👉แหล่งของรายได้ปกติเราจะมีอะไรบ้าง

1. เงินเดือนประจำ

ในกรณีที่เราเป็นพนักงานบริษัทซึ่งรายได้ส่วนนี้ ถ้าจะมองว่ามั่นคงก็มั่นคง เพราะรายได้ จะเข้าทุกเดือนเมื่อถึงเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่มั่นคง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เงินเดือนไม่เข้า นั่นหมายถึง รายได้เรา จะเป็น 0 ทันที

2. เงินโบนัสประจำปี

เป็นแหล่งรายได้ ที่หวังจะเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งแต่เป็นแหล่งรายได้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก จึงไม่ควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่จะมีแผนในการใช้จ่าย และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีรายได้ส่วนนี้เข้ามาควรจะเก็บเป็นเงินออมทั้งหมด 100% ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ตรงข้าม ก็คือ เมื่อโบนัสออกก็ใช้เงินก้อนนี้ไปจนหมดเพื่อสนองความต้องการที่มีมานานข้ามเดือนข้ามปี แต่ถ้าจะมองถึงความมั่นคงในอนาคตก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้จ่ายและควรจะเก็บไว้ทั้งหมด 100% เป็นเงินสำรอง

3. การลงทุน

แหล่งรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในเรื่องอื่นๆ การลงทุนซื้อหุ้นไว้ หรือการลงทุนในการซื้อทองคำไว้ หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน หรือการลงทุนในกิจการค้าขายใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดกำไร ซึ่งแหล่งรายได้ส่วนนี้ ก็ถือว่า เป็นแหล่งรายได้ที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่ยังสามารถทำกำไรให้ได้ จึงถือว่าเป็นแหล่งรายได้อีกแหล่งนึงที่ควรจะเก็บส่วนที่กำไรไว้ เพื่อเป็นทุนสำรองในยามฉุกเฉิน

4. เงินสะสม

แหล่งรายได้ที่สะสมไว้ในรูปของกรมธรรม์ประกันชีวิตต่างๆ ซึ่งสิ่งที่จะได้กลับมาจะมีระยะเวลาที่ชัดเจนและจำนวนเงินที่ชัดเจนซึ่งรายได้ส่วนนี้คงทำอะไรมากไม่ได้นอกจากเป็นการบันทึกไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อถึงเวลาที่จะได้คืนจะได้คืนเท่าไหร่เป็นเงินเท่าไหร่ถือเป็นเงินสำรองในอนาคตที่เตรียมไว้ใช้ในยามจำเป็นในยามชรา

👉แหล่งของค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องใช้

1. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในเรื่องของปัจจัย 4

ซึ่งไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าอาหารค่าเสื้อผ้า ยารักษาโรค ซึ่งปัจจุบันนั้นระบบประกันสังคมหรือระบบบัตรทองก็มีส่วนช่วยบรรเทาค่าจ่ายส่วนนี้ไป ส่วนที่อยู่อาศัยก็ขึ้นอยู่กับว่าค่าใช้จ่ายส่วนนั้นจะเป็นลักษณะของการเช่าอยู่หรือการผ่อนบ้านทั้งหมดนี้ คือปัจจัย 4 ที่เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพเพียงพอในระดับพื้นฐาน

2. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยที่เรามีทางเลือก

ว่าจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายอันนี้หรือไม่ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า กับอีกหนึ่งอย่างคือการผ่อนรถซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่แน่นอนในรายเดือนไม่ว่าเราจะใช้งานจริงหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการมีรถเพื่อใช้ในงานส่วนตัวถือเป็นค่าใช้จ่ายในเชิงของหนี้สินแตกต่างจากการมีรถเพื่อจะไปใช้ในการขนส่งเพื่อสร้างรายได้ อันนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของการสร้างทรัพย์สิน

3. ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเข้าสังคม

การเข้าสังคมจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเราในอนาคต ถ้าเราได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมาจึงมีการกำหนดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ซึ่งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจว่าจะตั้งงบส่วนนี้ไว้มากน้อยเพียงใด บ่อยครั้งแค่ไหน เพราะทุกครั้งที่มีสังคม นั่นคือ มีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย สิ่งที่น่ากังวลก็คือหากมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากเกินไป และมีส่วนที่ไม่ได้สร้างโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนกลับมาในชีวิต จริงๆมันจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ศูนย์เปล่าและไม่เกิดประโยชน์

4. ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิเลสส่วนตัว

ความอยากได้อยากมีในสิ่งต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่พร้อมที่จะมี ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ เรื่องของการซื้อสิ่งของต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันของแต่ละคน เพราะมันมีสิ่งของที่ใช้งานได้เหมือนกัน แต่อาจจะจ่ายราคาที่มันแตกต่างกัน เช่น สิ่งของบางอย่าง ถ้าใช้งานพื้นฐานก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 4,000-5,000 บาท ก็สามารถใช้งานพื้นฐานได้แล้ว แต่ในบางครั้งเราใช้จ่าย 20,000 ถึง 30,000 บาท ในการมีสิ่งของประเภทเดียวกัน ซึ่งแน่นอนสิ่งของที่แพงกว่า ย่อมมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพที่เหนือกว่า เพียงแต่ สิ่งที่เราต้องคิด ก็คือ การใช้งานให้เกิดประโยชน์จากสิ่งของที่มีอยู่นั้น เราใช้งานกี่เปอร์เซ็นต์ของคุณสมบัติหรือประสิทธิภาพของสิ่งของที่มีอยู่นั้น อย่างเช่น ถ้าเรามีสิ่งของนั้นและเราใช้ประโยชน์เพียงแค่ 10% ของฟังก์ชันทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งมันมีอยู่พื้นฐานในสิ่งของที่ราคา 4,000-5,000 บาท และก็มีในสิ่งของ ที่ราคาสูง 20,000 ถึง 3,000 บาท ถ้าเราใช้งานเพียงแค่ 10% ของฟังก์ชันทั้งหมดหากเราใช้จ่ายไปในสิ่งของที่แพงมาก มันคือการลงทุนที่สูญเปล่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่อาจจะถกเถียงว่า มันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ มันก็จะกลับไปสู่ในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเข้าสังคม ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า สุดท้ายลงทุนไปแล้ว คุ้มค่าหรือขาดทุน เพราะทุกอย่าง คือ ต้นทุนทั้งนั้นคือค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ไม่มีอะไรฟรี

5. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเวลาควร

ซึ่งส่วนนี้ มันจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความต้องการจริง ๆ หรือ ใช้เพียงความรู้สึกในการตัดสินใจ สิ่งที่พูดถึงตอนนี้ พูดถึงในมุมของคนที่ไม่ได้มีความพร้อมเรื่องการเงินสูงสุด ที่สามารถทำสิ่งนั้นได้ทันที โดยที่ไม่มีส่งผลกระทบตามมา แต่กำลังจะพูดถึง คนที่อาจจะต้องไปก่อหนี้เพื่อจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น และเป็นภาระที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหมุนเงินไม่ทันในที่สุดเช่น การเปลี่ยนรถยนต์ในเวลาที่เร็วเกินไป

ยกตัวอย่างเช่น

คนสองคน คนหนึ่งเปลี่ยนรถ ทุกๆ 8 ปี ในขณะที่อีกคนหนึ่งเปลี่ยนรถทุกๆ 12 ปี และใช้การซ่อมเอาเป็นหลัก นั่นหมายความว่า ในรอบ 24 ปี จะมีคนหนึ่ง เปลี่ยนรถ 3 คันในขณะที่คนหนึ่งเปลี่ยนรถไปเพียง 2 คัน ซึ่งหมายความว่า รถ 1 คัน จะต้องมีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เริ่มผ่อน จนผ่อนหมด รวมถึงค่าซ่อมบำรุงต่างๆ โดยรวมแล้วน่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่า คนที่เปลี่ยนรถ 3 คันในช่วง 24 ปี จะต้องใช้เงินมากกว่าคนที่เปลี่ยนรถ 2 คันในรอบ 24 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจจะเร็วเกินไป หรือยังไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น อันนี้สุดแท้แล้วแต่ แต่ละคนจะวางแผนชีวิตหรือปรัชญาในการดำเนินชีวิตของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ในเชิงคณิตศาสตร์แล้ว มันเห็นชัดๆ ว่า คนสองคนนี้ คนนึงจะมีเงินเก็บเพิ่มอีก 1 ล้านบาทในขณะที่อีกคนหนึ่ง จะมีโอกาสได้ใช้รถเพิ่มอีก 1 คันในรอบ 24 ปีเท่ากัน

สรุปแล้ว วินัยทางการเงิน กับ สติ คือ การวางแผนที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤตทางการเงินได้ในที่สุด