ทักษะที่จำเป็นสำหรับ Demand Planning Manager ในยุคดิจิทัล
สำหรับคนที่สนใจในตำแหน่ง Demand planning manager ก็ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติ ชอบการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแปลข้อมูลไปเป็นรายละเอียด เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนต่างๆได้
คนที่จะทำตำแหน่งนี้อาจจะจบอะไรมาก็ได้ ถ้ามีพื้นฐานเกี่ยวกับความชอบในการจัดการข้อมูล แต่หากจบมาทางด้าน Industrial Engineer ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนมาได้ เพราะในคณะวิศวกรรมอุตสาหการนั้น จะมีการเรียนการสอนในวิชา Operation Research และ Statistical analysis ซึ่ง 2 วิชานี้จะสอนให้วิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูลโดยตรง โดยเรื่องของ Operation Research จะสอนเกี่ยวกับการหาทางจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้ไปสู่จุดที่ดีที่สุด หรือที่เรียกว่า Optimum Point
ส่วนการวิเคราะห์ทางด้านสถิติ จะเป็นการบริหารจัดการข้อมูล โดยการนำข้อมูลดิบนั้น มาวิเคราะห์เพื่อเจาะลึกถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ของข้อมูลในมิติต่างๆ จนสามารถคำนวณไปถึงช่วงของข้อมูลที่ควรจะเป็น หรือเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการใช้งานด้านการบริหารงาน Demand planning manager
งาน Demand planning manager คือ งานที่นำเอาข้อมูลในอดีตมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในอนาคตของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ข้อมูลในอดีตนั้น จะถือว่าเป็นข้อมูลลักษณะทุติยภูมิ หรือเป็นข้อมูลระดับ 2 เพราะข้อมูลในอดีตเป็นตัวชี้วัดโอกาสที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วจะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ตลอดเวลา เพราะอาจจะมีปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยทำให้ทุกอย่างอาจจะไม่สามารถเป็นไปตามที่คาดหวังได้ 100% โดยยึดจากฐานข้อมูลเดิม
ดังนั้น การทำตำแหน่ง Demand planning manager นั้นต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำการวิจัยเก็บข้อมูลปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการคาดการณ์ในอนาคตได้ ดังนั้น โดยภาพรวมก็คือ คนที่จะทำตำแหน่ง Demand planning manager ได้นั้น ต้องเป็นคนที่มีทั้งความรู้ในเชิงทฤษฎี มีความสามารถในการวิเคราะห์ และแปลความหมายได้ และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลปัจจุบันทันด่วน แล้วนำทั้งหมดนั้นมารวบรวมให้เป็นแผนงานหรือการพยากรณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
นอกจากนี้แล้ว คนจะทำเรื่องของ Demand planning manager ควรจะต้องมีความรู้เรื่องของ Inventory management ด้วย เพราะยอดขายในอดีตจะมีความสัมพันธ์กับสินค้าคงคลัง แล้วนำไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และคาดหวังว่าจะเป็นในอนาคต จึงจะทำให้สามารถพยากรณ์ความต้องการได้อย่างถูกต้องหรือมีคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
👉สิ่งพื้นฐานที่ Demand planning manager ควรจะต้องมีก็คือ
- การวิเคราะห์ความถี่ ที่เกิดขึ้นหรือเรียกว่า frequency table
- การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ หรือที่เรียกว่า Correlation analysis
- การวิเคราะห์ความแปรปรวน Variance analysis
- การคำนวณช่วงของข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นที่ระดับความมั่นใจ 95%
- การสรุปสมมติฐานว่า สินค้าหนึ่งมีความเชื่อมโยงในการตัดสินใจของสินค้าอีกชนิดหนึ่งหรือไม่อย่างไรที่เรียกว่า Goodness Of fit test
- การพยากรณ์ โอกาสที่จะเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่ง โดยอ้างอิงจากตัวแปรของอีกสิ่งหนึ่งในเชิงเส้นตรงเช่น Linear regression analysis หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องไปถึงขั้นที่เป็น Multiple linear regression analysis
- การใช้เทคนิคการพยากรณ์หรือเรียกว่า Forecasting technique
ที่กล่าวมานี้ จะเป็นเฉพาะด้านทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องมีความรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านการตลาดพื้นฐาน คือความรับรู้ในด้านพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะการบริหารจัดการความต้องการของสินค้านั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยตรงว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมอย่างไรเกี่ยวกับสินค้าของเราในสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลก
👉ความรู้พื้นฐานที่ตำแหน่งนี้ควรต้องมี
ถ้าเป็นไปได้แล้ว Demand planning manager ควรจะมีความรู้พื้นฐานด้านการวิเคราะห์ด้านการเงินด้วย เพราะควรจะสามารถคำนวณถึงผลตอบแทนจากการลงทุน ROI เพราะการวางแผนเรื่องของ Demand planning manager นั้นจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการลงทุนเช่นกัน จึงต้องมีความรู้ในการคำนวณเรื่องของความคุ้มทุนในการที่จะต้องลงทุนเรื่องของเครื่องจักร หรือสายการผลิตใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของการผลิตของลูกค้า
Demand planning manager ต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านการตลาดไม่น้อยเช่นกัน เพราะจะต้องเชื่อมโยงไปถึงการทำเรื่อง ของ Pricing policy เพราะในส่วนแรกที่กล่าวถึงนั้น จะเป็นส่วนของทางด้านต้นทุนทั้งนั้นเลย ในเบื้องต้นที่เกี่ยวกับเรื่องของการนำข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์ เพื่อจะนำไปสู่การคาดการณ์ในการผลิตสินค้าให้เพียงพอความต้องการ ไปจนถึงการลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตให้เพียงพอความต้องการ ส่วนนี้เป็นส่วนเบื้องต้นของการเกิดของต้นทุนทั้งนั้น
แต่เมื่อส่วนนี้ผ่านไปแล้ว ส่วนถัดไปที่เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือ เรื่องของการกำหนดราคาขายซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพการแข่งขันเพราะต้นทุนที่ถูกคำนวณมาในส่วนแรกนั้น มีความชัดเจนแน่นอนแล้วว่าสินค้าจะต้องมีต้นทุนเท่าไหร่ แต่ปัจจัยที่จะส่งผลให้การกำหนดราคาที่จะเกิดขึ้น ก็คือ กำไรที่คาดหวังจากการขายสินค้าตัวนั้น แต่ก็ต้องเทียบกับสภาพการแข่งขันของสินค้าของคู่แข่งเช่นกันหากต้นทุนสูงเกินไปและต้องการกำไรสูงเกินไป จะทำให้ราคาขายสุดท้ายสูงเกินไปและไม่สามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกัน หากต้นทุนสูงเกินไปแต่กำไรน้อยเกินไป แม้จะสามารถแข่งขันได้ ก็จะทำให้สูญเสียโอกาสในการทำกำไรตามที่ควรเป็นไป ดังนั้นในส่วนที่ 2 ที่เป็นเรื่องของการตลาดนี้ คนที่ดำรงตำแหน่ง Demand planning manager ก็ต้องมีความสามารถในการตั้งราคาสินค้า ซึ่งในช่วงนี้แหละ ที่จะเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ข้อมูลที่เป็นปฐมภูมิที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากหน้างานจริงๆในสถานการณ์จริงๆ ในช่วงเวลานั้นจริงๆ เพราะราคาที่ได้มาจากข้อมูลในอดีต ซึ่งเป็นข้อมูล ทุติยภูมิ นั้นเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต แต่อาจจะไม่สามารถสะท้อนถึงสภาพการแข่งขันในปัจจุบันได้ ดังนั้น Demand planning manager จึงต้องมีความรอบรู้ในการรวบรวมข้อมูล แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงต่างๆ
หลังจากกำหนดราคานี้ได้ทำเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่ Demand planning manager จะต้องคิด ก็คือ เรื่องของการบริหารสต๊อกสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีกรณีของการแข่งขันไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มันก็ทำให้เกิดสินค้าคงเหลือมากมาย สร้างความเสียหายในเรื่องของต้นทุนและการขาดทุนกำไรที่ควรจะได้ตามแผนที่วางไว้ และนั่นคือ สิ่งที่ Demand planning manager จะต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่า หากสินค้าขายไม่ออกแล้วสินค้าถูกตีกลับ หรือมีสต๊อกมากเกินไป จะทำการระบายสินค้าอย่างไร หรือจัดโปรโมชั่นอย่างไร เพื่อให้สินค้าระบายออก ลดการขาดทุนหรือการสูญเสียโอกาสทำกำไรตามแผนที่วางไว้ เพราะเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบและลดความเสียหายมากที่สุด และสิ่งนี้จะส่งผลโดยตรงไปถึงการวางแผนการออกสินค้าใหม่ๆ ในช่วงถัดไปด้วย ซึ่งจะเป็นวงจรเดิมๆ ที่ได้กล่าวมาจากข้างบนแล้วนั้น
สรุปในภาพรวม ก็คือ ตำแหน่ง Demand planning manager ถ้าจะพูดถึงความรับผิดชอบและภาระหน้าที่นั้น ถือได้ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญและหนักมาก เพราะหากการวิเคราะห์การตัดสินใจของ Demand planning manager ผิดพลาดแล้วจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเสียหาย ตามมาเป็นขั้นตอนต่อเนื่องทั้งระบบทันที ตั้งแต่ความผิดพลาดในการลงทุนเพื่อขยายตลาดและขยายการผลิต ความผิดพลาดในการกำหนดราคา ความผิดพลาดในการบริหารจัดการสต๊อกคงเหลือหรือสินค้าที่ขายไม่ออก และจะเป็นความเสียหายสะสมไปบั่นทอนความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าตัวใหม่ๆ ในรอบถัดๆ ไปเช่นกัน หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ซ้ำกันประมาณสัก 3-4 รอบ ย่อมทำให้บริษัทอ่อนแอลงและเกิดภาระความเสียหายสะสม และไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ดังนั้นตำแหน่ง Demand planning manager นี้ ถือว่า เป็นตำแหน่งที่สำคัญมากและต้องมีความรู้ความสามารถในหลายด้านจริงๆ ทั้งในเรื่องของ
- Operation Research
- Statistical analysis
- Inventory Management
- Customer behavior
- Pricing policy
- Investment analysis และอื่นๆอีกมากมาย
คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง Demand planning manager นั้น ถ้าจะให้ครอบคลุมในหลายๆ มิติ น่าจะเป็นผู้ที่เรียนจบมาทางด้าน ปริญญาตรีวิศวกรรมอุตสาหการ และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ หรือปริญญาโท ทางด้านการตลาดโดยตรงซึ่งสิ่งนี้น่าจะช่วยให้คนที่ดำรงตำแหน่ง Demand planning manager มีพื้นฐานความรู้ที่มากเพียงพอที่จะจัดการกับเรื่องราวต่างๆที่กล่าวมาในเบื้องต้นทั้งหมดได้อย่างครอบคลุม