ทำยังไงให้เงินฝากงอกเงย เงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ ภาค 1
เมื่อพูดถึงเรื่องเงินเรื่องทองแล้ว สิ่งที่เราจะต้องรู้ ก็คือ เงินมีต้นทุนเสมออย่างน้อยที่สุด ก็คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในกรณีที่เราไม่ได้เอาเงินไปทำอะไร เราฝากธนาคารไว้ เราก็จะมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำมาก จนแทบจะไม่มีความหมายใด ๆ ในการฝากเงินไว้กับธนาคาร เพราะมันไม่ออกดอกออกผลมากพอที่จะใช้ประโยชน์จากเงินนั้นได้
ดังนั้นหลาย ๆ คนที่มีเงินฝากมากมาย จึงต้องคิดหาวิธี ที่จะเอาเงินนั้นไปลงทุน เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือที่เรียกอย่างว่า ผลตอบแทนจากการลงทุน ROI หรือ Return on Investment ตัวอย่างเช่น เราเอาเงินไปซื้อทองแล้วเก็บไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วนำทองนั้นไปขายต่อ เมื่อทองขึ้นราคาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากเงินที่ได้จากการขายทอง เทียบกับต้นทุนที่ซื้อทองมาในวันแรก สิ่งนี้เทียบได้กับอัตราดอกเบี้ย หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ถ้าเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะหมายถึง เราซื้อทองเก็บไว้ 1 ปี ขายได้กี่บาท ได้เงินเพิ่มกี่บาทเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมาเมื่อ 1 ปีก่อน ส่วนต่างที่ได้เพิ่มขึ้นมา หารด้วยต้นทุนของทองที่ซื้อครั้งแรก เราจะเรียกว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่อปี นี่เป็นวิธีการเปรียบเทียบอย่างหนึ่งว่า การฝากเงินธนาคารกับการเก็งกำไรจากการซื้อทอง เทียบในอัตราส่วนต่อปี ได้รับผลตอบแทนแบบไหน ได้เปอร์เซ็นต์มากกว่ากันในรูปของผลตอบแทน
หรืออีกกรณีหนึ่ง บางคนที่มีเงินทุนมากมาย อาจจะเอาเงินนั้นไปลงทุนทำธุรกิจในช่วง 3 ปี 5 ปี หากธุรกิจประสบความสำเร็จ มีกำไรสะสมเป็นกี่บาท มันก็จะเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน หมายความว่าในวันแรกที่ลงทุนเปิดบริษัท ราคาหุ้นอยู่ที่ 100 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อทำธุรกิจไป 3 ปี โชคดีบริษัทมีกำไร และมีเงินปันผล และมีกำไรสะสม สิ่งเหล่านี้ รวม ๆ กัน ก็จะเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในภาพรวม ซึ่งจะประกอบไปด้วยอย่างน้อย 3 ส่วนคือ
1. เงินปันผลประจำปี Dividend
2. กำไรสะสม Retained Earning ซึ่งส่วนนี้จะไปทำให้มูลค่าของหุ้นมีราคาสูงขึ้นกว่าวันแรกที่ลงทุนเปิดบริษัท เช่น วันแรกที่เราเปิดบริษัทครั้งราคาหุ้น 100 บาทต่อหุ้น เมื่อผ่านไป 3 ปี หลังจากแบ่งส่วนของเงินปันผลให้แล้ว ก็ยังมีกำไรเหลืออยู่อีกที่สะสมเก็บไว้ในบริษัท มูลค่าทางบัญชีอาจจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 120 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่านอกจากเงินปันผลที่ได้มาแล้วครั้งหนึ่งก็ยังได้เงินจากมูลค่าหุ้นเพิ่มอีก 20 บาท หมายความว่าเงินปันผลบวกกับส่วนต่างของมูลค่าหุ้น นำมาเทียบกับเงินลงทุนในวันแรก ก็จะบ่งบอกถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเทียบได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์
เมื่อเรานำไปเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ระหว่างฝากธนาคาร กับ การนำเงินมาทำธุรกิจ แบบใดจะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก็คือการฝากเงินในธนาคารนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่า ให้เงินปันผลน้อยกว่า แต่เงินต้นก็ยังอยู่ครบ 100% ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งจะแตกต่างจากการดำเนินการกิจการ เพราะแม้ว่าจะได้เงินปันผลและมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นในวันนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในวันข้างหน้าเช่นกัน หากในปีถัดไป การดำเนินกิจการมีปัญหาจนทำให้เปลี่ยนจากสภาพกำไรมาเป็นขาดทุน นั่นหมายความว่า เงินปันผลที่เคยได้มาเทียบกับอัตรากำไรสะสมของบริษัท ซึ่งจะทำให้มูลค่าของหุ้นตามบัญชีน้อยลงเช่นกัน ในที่สุดเมื่อเอาเงินปันผลที่เคยได้มาหักลบกับมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ลดลง ส่วนต่างมีอยู่เท่าไหร่ นำไปเทียบกับมูลค่าหุ้นบริษัทในวันที่เปิดกิจการ เราก็จะเห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนนั้นจะยังคงดีกว่าการฝากเงินในธนาคาร หรือเกิดความเสียหายขาดทุนจนทำให้เงินต้นต้องลดน้อยลงไปด้วย หมายถึงมูลค่าหุ้นของบริษัทต่ำกว่า 100 บาทเทียบกับวันแรกที่เปิดกิจการ เราจึงจะเห็นได้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง อาจจะได้มากกว่าหรืออาจจะเสียหายมากจากการขาดทุน เมื่อเทียบกับการฝากเงินธนาคาร คือ ดอกเบี้ย
ทฤษฎีการเงินพื้นฐานจึงมักจะใช้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของธนาคารมาเป็นตัวยืนพื้นฐานเพื่อให้ทุก ๆ คน พิจารณาได้ว่า การดำเนินธุรกิจใด ๆ ก็ตามมันมีโอกาสจะได้เงินมากกว่าฝากธนาคารมากแค่ไหน คุ้มค่ากับความเสี่ยงไหม ถ้าหากไม่คุ้มค่าในการดำเนินกิจการหรือกำไรมีน้อยเกินไป บางครั้งการเก็บเงินฝากไว้กับธนาคาร ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี ในช่วงระยะสั้น ๆ แม้ดอกเบี้ยจะน้อยกว่า แต่ก็ไม่เสี่ยงกับการสูญเสียเงินต้นหรือเงินทุนไปจากการขาดทุนในการดำเนินกิจการ
3. ROA Return on Asset หากเราตัดสินใจในการที่จะนำเงินไปลงทุนดำเนินกิจการนั้น มันมีปัจจัยอีกหลายเรื่องที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวพัน ก็คือ เรื่องของทรัพย์สินที่เราต้องจัดหามาเพื่อให้การดำเนินกิจการเกิดขึ้นได้ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นเป็นเครื่องมือใช้ในการสร้างยอดขายและเป็นที่มาของกำไรในการดำเนินการ เมื่อพูดถึงในส่วนนี้แล้ว การบริหารจัดการทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพ สร้างรายได้และก่อให้เกิดผลกำไร ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเราถึงต้องมองในแง่ของ ROA Return on Asset ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า กำไรที่ได้จากการดำเนินการเทียบกับทรัพย์สินที่ลงทุนไปนั้น ให้ผลตอบแทนดีมากน้อยแค่ไหน เป็นตัวหนึ่งที่จะบอกว่าเราลงทุนในเรื่องทรัพย์สินเกินความจำเป็นหรือไม่ หากเราลงทุนในเรื่องทรัพย์สินมากเกินไป แต่ไม่สามารถสร้างยอดขายได้มากพอและกำไรจากการดำเนินการก็ไม่เพียงพอ เมื่อนำมาเทียบกับทรัพย์สินแล้ว ตัวเลข ROA Return on Asset ดูต่ำเกินไปมันอาจจะเข้าข่ายลักษณะของการขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง เราลงทุนมากขนาดนั้น เราก็ขายได้แค่นี้ กำไรก็ได้แค่นี้ ในมุมกลับกัน หากเราลงทุนน้อยกว่านี้ แต่ก็ยังสามารถมียอดขายได้เท่าเดิม ก็จะทำให้มีกำไรมากขึ้นได้เพราะการลงทุนในเรื่องของทรัพย์สินก็จะมีเรื่องของภาระดอกเบี้ยที่ตามมาด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า การประกอบการกิจการของของผู้ประกอบการในเรื่องเดียวกัน ผู้ประกอบการรายหนึ่งอาจจะลงทุนเรื่องทรัพย์สินมากเกินไปโดยไม่จำเป็น และสุดท้ายก็ขายได้ยอดขายเท่ากับ ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งที่ลงทุนทรัพย์สินน้อยกว่าหรือลงทุนตามความจำเป็น สิ่งที่ตามมา ก็คือ แม้จะกำไรเท่ากันแต่กำไรที่เท่ากันนั้น เมื่อนำมาเทียบกับทรัพย์สินที่ลงทุนไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของทรัพย์สิน มีค่าไม่เท่ากันคนที่ลงทุนทรัพย์สินน้อยกว่า แต่สามารถสร้างยอดขายได้เท่ากัน มีกำไรเท่ากัน นั่นหมายความว่า เขามีความสามารถในการบริหารทรัพย์สินให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด สะท้อนออกมาในรูปแบบของยอดขายและกำไรจากการดำเนินการ
มาถึงจุดนี้ คงจะทำให้เห็นภาพบางอย่างว่า การทำธุรกิจบางครั้ง อาจมีบางคนหลงทางว่าต้องลงทุนเยอะ ๆ ให้ดูดีไว้ก่อน แต่ลืมนึกถึงภาระเงินทุนที่จะจมลงไปกับทรัพย์สิน จะยกตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ เช่น การทำร้านกาแฟ บางครั้งเครื่องชงกาแฟที่มีราคาต่างกันมาก ๆ ย่อมมีคุณภาพในการชงกาแฟที่แตกต่างกันแน่นอน เช่น เครื่องชงกาแฟเล็ก ๆ อาจจะชงได้ 2 แก้ว แล้วหลังจากนั้น อุณหภูมิอาจจะไม่คงที่ ทำให้กาแฟแก้วที่ 3 คุณภาพของความร้อน จะตกลงไป ไม่คงที่ แต่เครื่องชงกาแฟประมาณนี้ ราคาก็หลักหมื่นเท่านั้น ในขณะที่ เครื่องชงกาแฟดี ๆ จะสามารถชงกาแฟได้ต่อเนื่องถึง 10 แก้ว โดยที่ อุณหภูมิ ไม่ลดลงเลย คุณภาพในการชงดีเยี่ยม แต่ราคาอาจแพงกว่า 20 – 30 เท่า
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การมีเครื่องชงกาแฟที่แพง ๆ นั้น ย่อมดีกว่าในเรื่องคุณภาพการผลิตแต่หากร้านเราไม่ได้ขายกาแฟดีมากขนาดที่ต้องชงต่อเนื่องทีละ 10 แก้ว แล้วเราลงทุนในทรัพย์สินตัวนี้เกินความพอดี สิ่งที่จะตามมา คือ เงินทุนที่จมลงไป อาจสร้างปัญหาในการดำเนินการในอนาคต หากยอดขายน้อยมาก หรือ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเราใช้เครื่องชงกาแฟที่ราคาหลักหมื่นและลูกค้าเราไม่มากนัก เราจะมีเงินเหลืออีกมากพอที่จะใช้เป็นเงินหมุนในการสู้กับยอดขายที่ไม่มากพอในช่วงแรก และกำไรที่ได้จากการขายเทียบกับทรัพย์สินที่ลงทุนไป ถือว่าคุ้มค่ากว่าการลงทุนในเครื่องชงกาฟที่ดีมาก แพงมากในช่วงแรก แต่หากร้านเรามั่นใจว่า เปิดมาแล้วมีลูกค้าแน่นแน่นอน และจะชงกาแฟไม่ทันแน่ถ้าใช้เครื่องเล็ก เราก็ควรที่ลงทุนเครื่องใหญ่ไปเลยตั้งแต่แรก เพราะกำไรจากการดำเนินงานย่อมดีเทียบกับการลงทุน เพราะยอดขายมีมากพอกำไรจึงมากพอต่อการลงทุนนั้น เดี๋ยวเรามาตามต่อกันในภาค 2 ต่อไปครับ