ในอีก 5 ปีข้างหน้าเรามองเห็นตัวเองเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะน้อยคนนักที่จะตั้งคำถามนี้กับตัวเอง ก่อนที่ตัดสินใจสมัครงานที่ไหนก็ตาม เพราะเขาอาจจะไม่ได้คิดว่า เวลาที่จะต้องเสียจากนี้ไปอีก 5 ปี เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการได้งานทำ หรือการได้เงินเดือนที่เราต้องการ แต่ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เราต้องการจะเดินไปสู่ทางนั้นจริงๆ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจากนี้ไป เราก็ได้เงินเหมือนกัน ได้ประสบการณ์การทำงานเหมือนกัน ได้มีความรู้เพิ่มเติมเหมือนกันแต่คำถามที่สำคัญ ก็คือ ประสบการณ์ที่ได้ ความรู้ที่ได้ มันคือพื้นฐานที่นำไปสู่ปลายทางที่เราต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริงหรือไม่ สุดท้าย มันจะเป็นเพียงแค่ว่า เรามีงานทำ มีประสบการณ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังอย่างแท้จริง

สิ่งที่สำคัญในการสมัครงานหรือเลือกจะทำธุรกิจส่วนตัวอะไรก็ตามคำถามที่น่าสนใจที่ควรจะตั้งคำถามให้กับตัวเอง คือ
1. ในวันที่เราเกษียณอายุ
หรือในวันที่เราได้เป็นเจ้าของธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า เราอยากได้ชื่อว่าเกษียณอายุในตำแหน่งงานอะไร ในวิชาชีพอะไร เป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในสาขาใด หรือเป็นเจ้าของธุรกิจใด นั่นคือ สิ่งแรกที่เราจะต้อง ตั้งคำถามให้กับตัวเองตั้งแต่วันนี้
2. ศึกษาประเภทธุรกิจ
ลักษณะงานหรือธุรกิจที่เรากำลังจะทำในวันนี้ เป็นธุรกิจประเภทไหน และในกลุ่มธุรกิจประเภทนั้น มีทางเลือกอะไรย่อยลงไปบ้างที่เราจะเลือก ไม่ว่าเราจะจบอะไรมาก็ตาม เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำสิ่งนั้นตรงตามที่เราเรียนจบมาก็ได้
เช่น ไม่ว่าเราจบอะไรมาก็ตามเราสามารถที่จะไปเป็นเซลล์แมนขายของได้ ถ้าหาเป้าหมายของเรา คือ การจะเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเจ้าของบริษัทตัวเองในอนาคต การเริ่มต้นจากการเป็นเซลล์แมน ก็ถือว่า เป็นการเลือกสายวิชาชีพที่เหมาะสม และเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต
แต่การเป็นเซลล์แมนหรือการขายสินค้านั้น มีทั้งสินค้าอุตสาหกรรม มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค หรือไม่ก็เป็นลักษณะของสินค้าที่เป็นเชิงบริการ เราจึงต้องมองเห็นตัวเองให้ได้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้าเราจะเลือกขายสินค้าอุตสาหกรรม เราจะเลือกขายสินค้าอุปโภคบริโภค เราจะเลือกเข้าสู่ธุรกิจที่เป็นสายบริการ แล้วมองไปข้างหน้าอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ธุรกิจตัวนี้จะเติบโตอย่างไร มีโอกาสที่เราเติบโตได้อย่างไร ทั้งในมุมของการเป็นพนักงานบริษัท หรือในมุมของการเตรียมตัวออกไปเป็นผู้ประกอบการในอีก 5 ปีข้างหน้าหลังจากที่ประสบความสำเร็จ หรือ ได้สะสมประสบการณ์มากเพียงพอแล้ว

3. ศึกษาประเภทธุรกิจย่อย
สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก่อนสมัครงานไปทำงานที่บริษัทใดก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งแรก คือ ต้องเลือกประเภทของธุรกิจให้ถูกต้องก่อน หลังจากนั้น ก็ไปศึกษาว่าในธุรกิจประเภทเดียวกันนี้ มีธุรกิจย่อยกี่แบบ แล้วหลังจากนั้น จึงจะไปตัดสินใจเลือกว่า เราจะเข้าสู่ธุรกิจในกลุ่มนี้ ในกลุ่มธุรกิจย่อยตัวไหน เมื่อตัดสินใจได้แล้ว สิ่งต่อไป ก็คือ หาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของธุรกิจย่อยตัวนั้นอย่างละเอียดว่า การจะเข้าสู่ธุรกิจตัวนี้ หรือเป็นลูกจ้างในลักษณะธุรกิจประเภทนี้ ต้องมีความรู้อะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องมี เพื่อจะนำมาใช้ในตำแหน่งนั้น หรือ ทำงานในธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ได้อย่างมั่นคงจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
4. ศึกษาขนาดธุรกิจ
เมื่อเราเลือกได้แล้วว่า เราจะสมัครงานในตำแหน่งงานใด ในกลุ่มธุรกิจใด ในกลุ่มธุรกิจย่อยใด สิ่งต่อมา ก็คือ เราก็ต้องศึกษาดูว่าธุรกิจนั้นในแต่ละบริษัทที่เราจะไปสมัครนั้น มีความใหญ่โต มีความน่าเชื่อถือ หรือมีโอกาสอะไรบ้างที่เราจะสามารถเติบโตได้บนพื้นฐานที่เป็นเป้าหมายที่เราวางไว้อีก 5 ปีข้างหน้าว่าเราจะอยากเป็นอะไร เช่น ถ้าเราต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีระบบการทำงานชั้นเยี่ยม มีประสบการณ์ทำงานระดับสากล เราก็คงต้องเข้าไปสู่บริษัทที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ที่มีทั้งเทคโนโลยี มีทั้งวิชาการ มีทั้งประสบการณ์ และมีผลงานที่ผ่านมาอย่างดีเยี่ยม เราจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เป็นลักษณะของสากล เป็นระบบเป็นวิชาการ และอีก 5 ปีข้างหน้า เราก็จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานสาขานั้น ๆ ที่เราจะต้องทำอีกนาน หรือ
เราคิดว่าอยากจะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป้าหมายในการออกไปเป็นผู้ประกอบการในระยะเวลาอันสั้นภายใน 5 ปี เราอาจจะเลือกทำในองค์กรที่เล็กลงมาหน่อย แม้จะได้ผลตอบแทนที่น้อยหน่อย อาจจะมีการเรียนรู้ในเชิงของเทคโนโลยี หรือระบบงาน หรือวิชาการในเชิงสากลน้อยหน่อย เนื่องจากความพร้อมขององค์กรเล็ก ๆ จะไม่มีในเรื่องเหล่านี้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้ ก็คือ เราจะได้เรียนรู้ชีวิตจริงในการทำธุรกิจเพราะองค์กรเล็กๆเราจะมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ในหลายๆ แผนกงาน หรือเรียกได้ว่า ถ้าเราเป็นคนเก่งจริง และเจ้าของไว้วางใจ เจ้าของอาจจะให้เราทำงานแทบทุกอย่างที่เราสามารถจะทำได้ และเรายินดี เพื่อแลกกับประสบการณ์และโอกาสที่จะได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้าของกิจการ หรือเถ้าแก่เคยทำมาแล้ว และมอบหมายให้เราเป็นผู้ช่วยทำแทน
นี่คือ พื้นฐานที่สำคัญในการนำไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเถ้าแก่ใน 5 ปีข้างหน้า หรืออีกนัยหนึ่งคือ เรากำลังฝึกทำธุรกิจของตัวเองในอนาคต บนความเสี่ยงของธุรกิจของเจ้าของปัจจุบัน ซึ่งเป็นสนามซ้อมให้เราได้ลองเรียนรู้ว่า เมื่อเราต้องออกไปทำจริงในวันข้างหน้า เราจะต้องเจออะไรบ้างและเราพร้อมจะรับมือกับสถานการณ์ หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น และจะแก้ไขได้อย่างไร นี่คือ ห้องทดลองหรือสนามฝึกซ้อมที่ดีเยี่ยมที่สุดสำหรับเป้าหมายของคนที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ

.
สิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นทั้งหมด คือ สิ่งที่เราควรจะวางแผนให้ดี เพื่อจะให้เห็นภาพให้ชัดเจนว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะมองเห็นตัวเองเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่บอกมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะพูดในการสัมภาษณ์งานเสียทั้งหมด อาจจะต้องเลือกพูดเป็นบางอย่างเพราะ ถ้าเราพูดทั้งหมดตามที่แจ้งมาข้างบนนี้ จะกลายเป็นผลเสียในการสัมภาษณ์งานมากกว่า เพราะจะมีหลายสิ่งที่ HR ไม่อยากจะได้ยิน
คำตอบที่ HR ไม่ปลื้ม
1. ไปเรียนต่อ
“ผมมีแผนจะไปเรียนต่อครับในสาขาวิชานี้” เพราะนั่นหมายความว่า คุณไม่ได้คิดจะอยู่ที่นี่ยาวนาน ยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่คุณจะไปเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่จะต้องทำ หรือจะเป็นประโยชน์กับงานที่จะต้องทำในอนาคตเลย ทางเจ้าของบริษัทจะมองว่า การลงทุนพัฒนาคุณ อาจจะเป็นการสูญเปล่า เพราะสุดท้ายคุณก็จะไปในทิศทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกิจการของบริษัทเลยจากสิ่งที่คุณคิดจะเรียนต่อ หรือแผนที่คุณคิดจะไปเรียนต่อในสาขาวิชาอะไรก็ตาม
2. เปิดกิจการของตัวเอง
“ผมมีแผนที่ออกไปประกอบกิจการของตัวเองในธุรกิจเดียวกับธุรกิจของเจ้าของบริษัทที่ผมกำลังสมัครงานอยู่” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเด็ดขาด แม้จะเป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ในใจ และเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีเจ้าของกิจการคนไหน ที่มีความรู้สึกปลอดภัย หรือดีใจที่พนักงานคนหนึ่งที่กำลังสมัครงานมาทำงานในบริษัทของตนเอง มีเป้าหมายที่ออกไปประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน และกลับมาแข่งขันกับตนเอง โดยที่ตนเองจะต้องเป็นคนฝึก และสอนทุกอย่างให้เขาทำงานให้เป็น เหมือนฝึกคู่ต่อสู้ให้กลับมาสู้กันในอนาคต มีน้อยมากที่ เจ้าของกิจการจะยอมรับสิ่งนี้ได้ ยกเว้นกรณีที่เจ้าของกิจการนั้นเป็นคนที่มีจิตใจเมตตากรุณาอย่างแท้จริงและให้โอกาสคนอย่างแท้จริง จึงจะยินดีที่สนับสนุนคนที่มีแนวคิดแบบนี้เพื่อขยายฐานธุรกิจหรือเครือข่ายธุรกิจต่อไป
3. หาเลี้ยงชีพ
“ต้องการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ” สิ่งนี้แม้ว่าจะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของกิจการอยากได้ยินเพราะ นั่นหมายความว่า คุณเพียงแค่ต้องการเงินไปเลี้ยงชีพแต่ไม่ได้ไม่ให้ความใส่ใจ หรือสนใจในการทำธุรกิจของกิจการนี้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่จะทำให้เขารู้สึกลังเล หากตำแหน่งงานที่เขากำลังจะรับคุณเข้าไป เป็นตำแหน่งงานที่ต้องมีการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถทำงานในเป้าหมายระยะยาวที่เขาต้องการได้ภายใน 3 ปี 5 ปี แต่หากการเข้ามาทำงานของคุณเป็นเพียงแค่การเลี้ยงชีพ จะทำให้เขาอาจพิจารณาโอกาสนี้ให้กับคนอื่นที่มีความตั้งใจที่จะเติบโตในสายงานนี้มากกว่า

