คัดมาให้แล้ว 3 ทักษะพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้นำที่ดี
ในการเตรียมตัวเพื่อจะเป็นผู้นำที่ดีนั้น มีสิ่งที่เราจะต้องเตรียมพร้อมอยู่อย่างน้อย 3 หัวข้อใหญ่ๆ อาจจะมีหัวข้อมากกว่านี้ก็ได้ แต่ในบทความนี้จะยกมาในเบื้องต้นไว้ 3 หัวข้อก่อน
1. ไม่ใช่แค่หลักการ การเป็นผู้นำ ถ้าเรารู้เพียงแค่หลักการผิวเผิน ไม่น่าจะเพียงพอต่อการเป็นผู้นำที่ดีได้ เพราะคำว่า ผู้นำ นั้น หมายถึง คนที่สามารถจะชี้ทาง บอกทางให้กับผู้ตามได้ว่า สิ่งที่ถูกที่ควรคืออะไร ต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าผู้นำมีความรู้แค่ผิวเผิน แค่ในระดับหลักการเท่านั้น ย่อมไม่แตกต่างอะไร จากผู้ตามเพราะหลักการนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยาก ใครๆ ก็คิดได้ แต่เรื่องที่ยากคือ ใครจะรู้จริงในการทำให้สิ่งที่เรียกว่าหลักการนั้นเกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ
1.1 รู้จริงในสิ่งที่ปฏิบัติ ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำได้ส่วนใหญ่ มักจะมีความสามารถในเชิงปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เป็นผู้นำ เพราะความสามารถในการปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง รู้จริงในสิ่งที่กำลังทำอยู่ รู้จริงในหลักการ รู้ลึกในวิธีการ ย่อมทำให้เขาสามารถที่จะนำแนวทางการปฏิบัติหรือหลักการนั้นมาลงมือทำจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างแท้จริง ดังนั้น ผู้ที่เป็นผู้นำได้ จึงมักจะเป็นผู้ที่ไม่ใช่แค่รู้เพียงหลักการผิวเผินเท่านั้น
อาจจะมีคนเห็นขัดแย้งว่า ผู้นำไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดก็ได้ แค่รู้ในหลักการก็พอ อันนี้ ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน ถ้าผู้นำที่พูดคุยได้แค่หลักการ น่าจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ลูกน้องได้ เพราะหลักการมันเป็นเรื่องที่ผิวเผินเกินไป ใครก็คิดได้
1.2 รู้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจริง เมื่อผู้นำเป็นคนที่มีความรู้ในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง เขาย่อมมองเห็นอยากทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้าย ในการที่จะทำให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ได้ นั่นหมายความว่า เขาจะสามารถคาดการณ์ถึง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนแม่นยำและถูกต้อง เพราะก่อนจะมาเป็นผู้นำ เขาเป็นผู้ตามมาก่อน ได้รับการถ่ายทอดจากผู้นำที่ดี บวกกับฝีมือที่เขามีและประสบการณ์โดยตรงที่เขาทำในระดับรายละเอียดมามากมาย จนกลายเป็นคนที่มีความชำนาญในการปฏิบัติและจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่ง หลักการที่ถูกต้องทำได้จริง ดังนั้นผู้นำที่แท้จริง เขาย่อมรู้ดีในหลักการและสามารถลงมือปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างได้ถึงจะใช้คำว่าผู้นำได้อย่างเต็มภาคภูมิ
1.3 รู้วิธีแก้ปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ ผู้นำคนไหนที่เคยลงมือทำด้วยตัวเอง เขาจะมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงกระบวนการต่างๆ ในระหว่างทางที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ นั่นหมายความว่า เขารู้วิธีที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง มีประสิทธิภาพ และใช้ได้จริง จึงจะเรียกได้ว่า เป็นผู้นำตัวจริง ไม่ใช่ผู้นำที่มาจากการจัดตั้ง แต่งตั้ง แต่ไม่สามารถหลอมรวมระหว่างหลักการ แนวทาง การคาดการณ์ และวิธีการแก้ปัญหา ให้เป็นหนึ่งเดียวแล้วสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน
2. ผู้นำต้องรู้จักคน ผู้ตามนั้นมีอยู่หลายประเภท ซึ่งจะแบ่งให้เห็นในภาพกว้างๆ อย่างน้อยออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
2.1 ผู้ตามที่ต้องสอนทุกอย่าง
ส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กจบใหม่ ที่อาจจะไม่เคยทำงานมาก่อนหรือเป็นคนที่เคยทำงานแล้ว แต่เปลี่ยนสายงานมาเริ่มต้นสายงานใหม่ จึงเปรียบเสมือนกับเป็นเด็กจบใหม่ในสายงานนี้แม้จะผ่านประสบการณ์ทำงานจากสายงานอื่นมาแล้วก็ตาม ซึ่งลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่ผู้นำจะต้องทำ ก็คือ ต้องอธิบายแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนและละเอียด เนื่องจากว่า มันเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเขา ถ้าอธิบายไม่ชัดเจน ผู้ตามอาจจะเข้าใจผิดและทำไม่ถูกต้อง สุดท้ายจะเสมือนว่าเขาทำงานไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ หรือไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าคิดมากในมุมกลับกัน ก็คือ ผู้นำอาจจะมีปัญหาในการสื่อสารเอง ย่อมเป็นได้ อธิบายไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ตามเข้าใจผิด และทำสิ่งที่ผิดได้ ซึ่งสิ่งนี้ ไม่ควรโทษใครทั้งนั้น เพราะมันเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร เราสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ โดยการสื่อสารให้ชัดเจนและสอบทานความเข้าใจของผู้ตามว่า สิ่งที่เราให้มอบหมายไปทำนั้น เขามีความเข้าใจว่าอย่างไร เข้าใจตรงกับที่เราต้องการให้เขาเข้าใจหรือไม่ อันนี้ยังไม่พูดถึงความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ในระดับปฏิบัติการในขั้นตอนต่อไป
2.2 ผู้ตามที่สอนเพียงบางส่วน
แล้วเขาสามารถที่จะดำเนินการต่อเองในส่วนที่เหลือให้สำเร็จได้ โดยอาศัยคำแนะนำจากผู้นำเพิ่มเติมบางส่วน ในบางจังหวะ แต่เขามักจะเป็นคนที่ มีความสามารถในการริเริ่มสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง เพียงแต่ต้องให้แนวทางที่ชัดเจนว่า ทิศทางในการนำไปปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไรและเป้าหมายที่ต้องการจากผลการดำเนินการนั้น คืออะไรกันแน่ที่ชัดเจน ปัญหาตรงนี้ ก็จะคล้ายๆ กับปัญหาที่กล่างมาแล้ว ถ้าผู้นำไม่สามารถอธิบายทุกอย่างให้ชัดเจนได้ มีความเป็นไปได้ที่ ผู้ตามอาจจะทำตามที่คิดเองโดยมีแนวทางเบื้องต้นจากผู้นำ แต่ผู้ตามนำความเห็นส่วนตัว หรือประสบการณ์ส่วนตัวมาผสมในงานที่มอบหมายให้ทำ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีสอดคล้องไปในทางเดียวกัน หรืออาจจะเป็นผลลัพธ์ ที่ไม่ได้คาดหวังจะให้เกิดขึ้นและขัดแย้งกันไปคนละทางได้ จึงทำให้งานที่ทำออกมาแม้จะเสร็จ แต่อาจจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์แบบตามที่ควรจะเป็น หรือตามที่ผู้นำคาดหวังจะให้เป็นอย่างแท้จริง ปัญหาตรงนี้ ก็คงไม่แตกต่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป คือ ปัญหาเรื่องของการสื่อสารนั้นเอง
2.3 ผู้ตามที่มีความเข้าใจในระดับหลักการได้อย่างชัดเจนลึกซึ้ง
โดยที่ผู้นำไม่จำเป็นต้องสั่งการอย่างละเอียดเหมือนในระดับผู้ตามข้างต้นทั้งสองแบบที่กล่าวมาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพึงระวัง ก็คือ ผู้ตามที่อยู่ในระดับนี้เขามีประสบการณ์ส่วนตัว มีความสามารถสูงในการดำเนินงาน จึงอาจเป็นไปได้ที่ ถ้าผู้นำคุยหลักการไม่ชัดเจน ทิศทางไม่ชัดเจน เป้าหมายไม่ชัดเจน ผู้ตามที่มีศักยภาพสูงแบบนี้ อาจจะสร้างงานของเขาขึ้นมาจากประสบการณ์ความรู้ หรือความสนใจของเขา โดยมีพื้นฐานมาจากหลักการที่ให้มา ซึ่งในที่สุดแล้ว อาจจะตรงกับที่ผู้นำต้องการ หรืออาจจะตรงกันข้ามกับที่ผู้นำต้องการ เนื่องจาก เป็นการเปิดกว้างให้ผู้ตามที่มีความสามารถแบบนี้ สามารถคิดเอง พิจารณาเองและทำขึ้นมาเองก่อนนำมาเสนอให้กับผู้นำเพื่อตัดสินใจ
ในขั้นสุดท้าย ดังนั้น การกำหนดหลักการให้ชัดเจน ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการสื่อสารหรือทำงานกับผู้ตามที่อยู่ในระดับนี้ ที่มีศักยภาพสูงในการที่จะเริ่มต้นด้วยตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งผู้นำมากนัก ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงที่ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะใช้ได้ดีหรือใช้ไม่ได้เลยในที่สุด
3. เข้าใจความเป็นจริงมองโลกตามความเป็นจริง
ในความเป็นผู้นำ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่มีอะไรที่จะถูกใจได้ 100% เหมือนที่มีคำพูดเชิงขำขันว่าถ้าจะเอาถูกใจ 100% ก็ต้องทำเองด้วยมือตัวเอง ผลงานถึงจะออกมาถูกใจ 100% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานที่ออกมา 100% ที่ถูกใจผู้นำนั้น มันคือผลงานที่ถูกต้องจริงๆ หรือดีที่สุด เพราะมันเป็นความถูกใจของผู้นำคนเดียวที่ทำเอง ย่อมต้องถูกใจตนเองแน่นอน คงไม่มีผู้นำคนไหนที่ทำเอง แล้วจะบอกว่าสิ่งที่ทำออกมามันไม่ดี ไม่ใช่ ไม่ถูกใจ เพราะผู้นำนั้นเป็นคนที่ตัดสินผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยตนเอง แต่หากต้องการให้ผู้ตาม มาช่วยเหลือในการทำงานนั้น ผู้นำก็ต้องเปิดกว้างและเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และมองทุกสิ่งตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างมันจะไม่ถูกใจ 100%
3.1 ถ้าจะถูกใจ 100% ไม่มีทางอื่น นอกจากลงมือทำด้วยตนเอง
แต่ถ้าจะมอบหมายงานให้พนักงานทั้ง 3 ระดับหรือผู้ตามทั้ง 3 กลุ่ม มาทำงานให้กับผู้นำนั้น มีความเป็นไปได้ที่ ผลงานอาจจะออกใอยู่ในช่วงของ 60% ถึง 80% ซึ่งผู้นำจะต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ โดยทั่วไปอาจจะถูกใจผู้นำอยู่ที่ 80% แต่หากมีการสื่อสารหรือการสนับสนุนในการทำงานของพนักงานไม่ดีพอ อาจจะสำเร็จและถูกใจเพียงแค่ 60% ของเป้าหมายเท่านั้น
3.2 ผู้นำต้องกำหนดว่ามาตรฐานที่ยอมรับได้สำหรับผู้ตามในแต่ละกลุ่มนั้นกับผลงานที่จะเกิดขึ้น
จะยอมรับได้แค่ไหน เช่น ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องไม่ต่ำกว่า 80% ของความต้องการของผู้นำ ซึ่งผู้ตามกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ตามที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีวันถูกใจ 100% ตามใจของผู้นำแน่นอน แต่ถ้าหากว่า 80% ถือว่ายอมรับได้ ก็ปล่อยผ่านได้
ในขณะเดียวกัน หากเป็นผู้ตามในลำดับรองๆ ลงไป ผลงานอาจจะได้ต่ำกว่า 80 แต่ถ้าหากว่า ต่ำกว่า 60% ก็น่าจะถือว่า มีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ แล้วอาจจะเป็นปัญหาว่า ผู้นำสื่อสารไม่ดี หรือผู้ตามอาจจะขาดความสามารถในการรับรู้ความเข้าใจของผู้นำได้อย่างชัดเจนและไปปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ ผู้นำหรือผู้ตาม กันแน่ เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุดและถูกต้องและทำให้ผลงานออกมาดีขึ้นมากกว่า 60% ในที่สุด
3.3 ยอมรับความผิดพลาดและความเสียหายได้ในวงที่จำกัด
การที่ผู้นำจะยอมให้ผู้ตามทำงานได้ มีผลงานออกมา แม้จะไม่เต็ม 100% เหมือนที่หวัง แต่ก็มีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งว่า หางานผิดพลาดความเสียหายย่อมเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องพิจารณา ก็คือ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นจะยอมรับให้อยู่ในวงจำกัดได้แค่ไหน แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตามระดับไหนเป็นคนรับงานนั้นไปทำ
แต่ไม่ว่าผู้ตามคนไหนจะเป็นคนรับงานนั้นไปทำ ก็มีความเสี่ยงแน่นอนมี โอกาสเกิดความเสียหายแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ เราต้องกำหนดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในวงจำกัด อยู่ได้ที่เท่าไหร่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำจะต้องพิจารณากำหนดแนวทางไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะยอมรับความเสียหายได้แค่ไหนถ้าทุกอย่าง
3.4 ช่วยลูกน้องในการแก้ข้อผิดพลาด
ผู้นำต้องคอยติดตามงานลูกน้องตลอด ไม่ใช่เพียงการสั่งงานในภาพรวมลอยๆ แล้ว ปล่อยให้ลูกน้องไปทำเองโดยที่ไม่ได้ ติดตาม ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ลูกน้องกำลังทำผิดพลาดอยู่ แต่ผู้นำไม่ได้คอยติดตามอย่างใกล้ชิด จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันการ ไม่สามารถช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดเพิ่มเติมในอนาคต หรือแก้ไขสิ่งที่กำลังผิดพลาดอยู่ในขณะนั้นให้กลับมาถูกต้องในทิศทางที่ควรจะเป็น ดังนั้นการติดตามงานอย่างใกล้ชิด คือสิ่งที่ผู้นำจะต้องทำ เมื่อมอบหมายงานให้ผู้ตามไปดำเนินการแล้ว
กล่าวโดยสรุป ก็คือ สิ่งที่ผู้ที่ต้องการจะเป็นผู้นำ ควรเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อคิดจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอนาคต
- ต้องรู้รายละเอียดของงานไม่ใช่เพียงแค่รู้หลักการผิวเผิน
- ต้องรู้จักคนหรือรู้จักประเภทของผู้ตามที่เรากำลังจะมอบหมายงานให้เขาไปทำ
- ต้องกำหนดมาตรฐานของผลงานที่จะออกมาให้ชัดเจนว่า เรารับได้เพียงใดเทียบกับมาตรฐาน 100% ที่เราจะลงมือทำเอง และต้องกำหนดขอบเขตของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือยอมรับได้หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริงๆ จากผลการทำงานของผู้ตามที่เรามอบหมายให้
- เข้าใจความจริงและมองโลกตามความเป็นจริงว่า ความสามารถของผู้ตามกับผลงานที่จะได้มานั้นย่อมเป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ปล่อยปะละเลยไม่ติดตามงานปล่อยให้ผู้ตามทำตามุวามความเข้าใจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นจริงๆ และต้องลงไปแก้ไขปัญหาให้กับผู้ตามได้ทันเวลา ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตไปจนทำให้ผลงานออกมาใช้ไม่ได้