fbpx
24ก.พ.

โฟร์แมนคืออะไร ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน?

โฟร์แมน ถือว่าเป็นตำแหน่งงานที่สำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง และมีผลต่อความสำเร็จในการทำงานให้เสร็จไปตามเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจาก ตำแหน่งโฟร์แมนเป็นกุญแจสำคัญหรือเป็นเฟืองตัวสำคัญ ที่จะเชื่อมต่อระหว่างหน้างาน ลูกค้า และวิศวกรที่วางแผนงานในการทำงานโครงการ หรือในการทำงานในสายการผลิตต่างๆ หากโฟร์แมนมีประสิทธิภาพ มีความสามารถสูง งานโครงการต่างๆ จะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และประหยัดค่าใช้จ่ายสูงสุด เนื่องจากเกิดความสูญเสียน้อยที่สุดจากความผิดพลาดในการทำงาน ในการแก้ไขงาน และในการใช้งบประมาณในการบริหารวัสดุหรือวัตถุที่ต้องใช้ในการทำงานให้มีความผิดพลาดหรือเสียหายน้อยที่สุด

คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่โฟร์แมน จะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆเหล่านี้

👉1. มีประสบการณ์เฉพาะ

เป็นผู้ที่เติบโตมาจากหน้างานโดยตรง คนที่จะได้รับตำแหน่งโฟร์แมนส่วนใหญ่จะมาจาก ผู้ที่เริ่มจากการทำงานหน้างานในฐานะพนักงานหรือคนที่ทำงานหน้างานโดยตรงมาก่อน เมื่อทำงานมาได้หลายๆปี สะสมประสบการณ์อย่างเพียงพอแล้ว ก็จะได้รับการโปรโมทให้ขึ้นมาเป็นโฟร์แมน เพื่อควบคุมพนักงานใหม่ๆ หรือคนงานใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานครั้งแรก เหมือนกับที่ตนเองเคยทำในอดีต ซึ่งจะสามารถทำให้มองเห็นงาน สอนงาน ควบคุมงานให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนงานและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดความเสี่ยงในการที่เกิดความเสียหายหรือความผิดพลาดในการทำงาน

เนื่องจากโฟร์แมนนั้น เคยทำทุกอย่างมากับมือด้วยตัวเอง จึงสามารถจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องของหน้างานในรายละเอียดต่างๆ ตำแหน่งโฟร์แมน จึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก ในการที่จะควบคุมการทำงานทุกอย่างให้ถูกต้องเป็นไปตามเป้าหมาย ประหยัดเงิน ประหยัดเวลาและเป็นไปตามมาตรฐาน

👉2. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นหลัก เพราะโฟร์แมนจะเป็นผู้ที่ทำงานหน้าเดิมซ้ำๆ มาตลอด เป็นระยะเวลาหลายเดือน หลายปี ในหน้างานหลักที่ตัวเองรับผิดชอบโดยตรง จึงเกิดการนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง มองเห็นปัญหาทุกอย่างที่จะตามมาได้อย่างชัดเจน รู้กระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ คาดเดาสิ่งต่างๆได้จากประสบการณ์โดยตรงที่ทำซ้ำๆกันมา ซึ่งสิ่งนี้รวมเรียกว่าเป็นความชำนาญเฉพาะได้

👉3. เป็นคนที่แก้ปัญหาเก่ง

เนื่องจาก ต้องเป็นคนที่เจอกับปัญหาหน้างานตลอดเวลา ทั้งที่เป็นปัญหาที่ซ้ำซ้อนเฉพาะหน้าเฉพาะเหตุการณ์ หรือเป็นปัญหาซ้ำซากที่ต้องพบเจอทุกๆครั้งที่ทำงานในหน้างานตรงนั้น จึงทำให้โฟร์แมนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาที่เก่งมาก อาจจะแก้ปัญหาโดยยึดหลักทฤษฎี หรือบางครั้งอาจจะแก้ปัญหาโดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า การใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหานั้น จะดีกว่าหรือแย่กว่า การใช้ทฤษฎีในการแก้ปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหานั้นก็ได้ถูกแก้ที่หน้างานไปแล้ว เพียงแต่วิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์บางสถานการณ์นั้น ผลที่ได้มาอาจจะดีเกินคาดหรืออาจจะเป็นเพียงแค่การทำให้งานมันผ่านไป แต่แฝงไว้ซึ่งอันตรายที่จะตามมาในระยะยาวเหมือนระเบิดเวลา ซึ่งสิ่งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า มันมีเกิดขึ้นในทุกหน้างาน

ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่สามารถแยกแยะโฟร์แมนแต่ละคนได้ว่า โฟร์แมนในหน้างานเดียวกัน ลักษณะงานเหมือนกัน อาจจะมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน โดยวัดจากผลที่จะตามมาในอนาคตแม้ว่า โฟร์แมนทั้งสองคนนั้น จะแก้ปัญหาได้ทั้งคู่จากผลลัพธ์ที่ได้เห็น แต่ความเก่งในการแก้ปัญหา ก็ถือว่ายังมีความแตกต่างกัน

👉4. ไม่เน้นทฤษฎี เน้นปฏิบัติ

อันนี้อาจเป็นผลมาจาก 2 สิ่งปัจจัยเป็นอย่างน้อย สิ่งแรก เนื่องจากโฟร์แมน คือ คนที่เติบโตมาจากประสบการณ์หน้างานโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เวลาทั้งหมดในการทำงานที่หน้างานที่เป็นเนื้องานที่แท้จริง จึงไม่มีเวลาที่จะมาเรียนรู้เรื่องทฤษฎีมากนัก ต้องทำทุกอย่างตามที่ถูกกำหนดมา และทำให้เสร็จให้ทันเวลา ต้องพยายามทำตามทุกอย่างที่ถูกกำหนดมาให้แล้วเสร็จ ดังนั้น ลักษณะของโฟร์แมน จึงเป็นผู้ที่ในเบื้องต้นไม่เน้นทฤษฎี แต่เน้นปฏิบัติให้สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่เป็นโฟร์แมน จะไม่มีความรู้เรื่องทฤษฎี เพียงแต่โดยลักษณะงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้เขาเน้นปฏิบัติ มากกว่าเน้นการให้เวลากับเรื่องของทฤษฎี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวิชาการที่จะต้องเป็นเรื่องของวิศวกร หรือหัวหน้างานชั้นสูงขึ้นไป ที่จะต้องเป็นคนไปจัดการเรื่องทฤษฎีหรือแนวทางต่างๆ และสรุปมาเป็นแนวทางในการทำงานปฏิบัติจริง และลงมือทำอย่างจริงจัง โดยโฟร์แมนเป็นผู้ควบคุมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นให้ได้

👉5. ประสานงานเก่ง

โฟร์แมนเป็นคนที่ประสานงานเก่ง เพราะต้องประสานงานกับทุกฝ่ายตลอดเวลา ตั้งแต่คนงานหน้างาน วิศวกรผู้ควบคุมงาน ผู้รับเหมาช่วง เจ้าของงานที่มาตรวจงานด้วยตัวเองในบางครั้ง และบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ จึงเป็นคนที่ต้องพูดคุยให้ข้อมูลกับคนที่เข้ามาที่หน้างานตลอดเวลา จึงต้องเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะเป็น ผู้ประสานงานเก่ง รู้ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด ข้อมูลใดให้ใครได้ ข้อมูลใดไม่ควรให้ใครในเวลาที่ไม่เหมาะ สมคุณสมบัติอันนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากสำหรับโฟร์แมน เพราะบางครั้ง ถ้าโฟร์แมนประสานงานไม่ดี หรือให้ข้อมูลผิดพลาด หรือให้ข้อมูลในเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือข้อมูลที่ไม่ควรให้ อาจจะทำให้มีผลต่อความราบรื่นของโครงการได้ ในบางครั้งแม้โฟร์แมนจะรู้ แต่อาจจะต้องบอกว่าไม่รู้ แล้วให้วิศวกรที่ควบคุมงานเป็นผู้ประสานงานกับบริษัทที่ปรึกษา หรือผู้ตรวจงาน หรือเจ้าของงานเองเพื่อให้แนวทางการให้คำตอบหรือข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ถูกต้องและควรจะเป็น

👉6. มีความใส่ใจเฉพาะ

ผู้ที่มีการให้ความใส่ใจ หรือสนใจหรือโฟกัสในเฉพาะเรื่อง เนื่องจากหน้างานมีส่วนงานต่างๆมากมาย และถูกแบ่งออกไปเป็นการทำงานเป็นส่วนๆ ตามแบบแผน หรือ drawing หรือตามลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย จึงทำให้โฟร์แมนเป็นผู้ที่ใส่ใจในเฉพาะเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้าของตัวเองเท่านั้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในแผนการทำงานหรือ Drawing เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้โฟร์แมนโฟกัสในหน้างานของตัวเองและทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนดไว้อย่างแท้จริง เมื่องานในส่วนของตัวเองเสร็จ จะต้องไปประสานงาน หรือทำงานเชื่อมต่อกับส่วนงานของโฟร์แมนคนอื่น หากไม่โฟกัสงานให้ดี จะเกิดปัญหาตามมาทันที เนื่องจากไม่ได้ทำตามแผนหรือแบบกำหนดไว้ ทำให้การเชื่อมต่อของงานเกิดความผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามแผน เช่น การเดินท่อต่างๆ หากมีความผิดพลาด จะทำให้แนวท่อไม่ตรงกันตามที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดปัญหาหน้างาน ซึ่งอาจจะแก้ไขได้ง่าย โดยการปรับเปลี่ยนหน้างาน หรืออาจจะแก้ไขได้ยากหมายถึง อาจต้องมีการรื้อทิ้งและทำใหม่ในบางส่วน เพื่อจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนให้ได้ ดังนั้น โฟร์แมน จึงเป็นผู้ที่โฟกัสหรือใส่ใจในหน้างานของตัวเองเป็นหลัก

👉7. มีความอดทนสูง

โฟร์แมนเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อความกดดันสูงมาก เนื่องจากเป็นผู้ต้องได้รับความกดดันจากทุกทิศทุกทาง ตั้งแต่คนงานเองที่ต้องควบคุมให้ทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ต้องได้รับความกดดันจากวิศวกรที่ต้องการให้งานสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย ได้รับความกดดันจากเจ้าของงานกรณีที่เข้ามาดูงานและต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่างตามใจหรือกระทันหัน ที่ไม่อยู่ในแผน หรือได้รับความกดดันจากบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาตรวจสอบงานอย่างละเอียดและไม่ยอมให้งานผ่านได้จนต้องแก้ไขกันใหญ่โต และทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก บางครั้งบริษัทที่ปรึกษามีความเข้มงวดสูงมาก ไม่ยอมให้ผ่านไปได้ทุกกรณี จึงเป็นความกดดันของโฟร์แมนที่ต้องแก้งานหรือทำงานนั้นใหม่ เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

กล่าวโดยสรุปแล้ว โฟร์แมน คือ ผู้ที่อยู่ท่ามกลางความกดดัน และเป็นคนสำคัญ ในการทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งในด้านของคุณภาพ ความถูกต้อง ประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายของโครงการ จึงถือว่า เป็นผู้ที่มีความสำคัญที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ตามแผนที่ควรจะเป็น